สัญญานเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์


สัญญานเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก thaihealth


แฟ้มภาพ


โรคของต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นในชายสูงวัย โดยที่ต่อมลูกหมากมักเริ่มโตขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป หลายท่านคงได้ยินชื่อโรคต่อมลูกหมากโตที่ผู้ชายสูงวัยหลาย ๆ คนมีอาการจากโรคนี้ เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้น จะทำให้เกิดการกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะมีขนาดเล็กลง ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งมากขึ้น ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ค่อยอยู่


บางคนที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออกจนต้องไปใส่สายสวนปัสสาวะที่โรงพยาบาล เป็นต้น ในปัจจุบันการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงน้อย ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น


ผศ.นพ.เปรมสันติ์  สังฆ์คุ้ม คลินิกต่อมลูกหมากและสุขภาพเพศชาย สาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคของต่อมลูกหมากอีกโรคหนึ่งที่พบได้ในชายสูงวัยเช่นเดียวกันคือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้หลายคนสงสัยว่าอาการปัสสาวะลำบากที่ตนเองมีอาการอยู่นั้นเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมากกันแน่เนื่องจากทั้งสองโรคนี้มักพบในชายสูงวัยเช่นเดียวกัน ทั้งแพทย์และคนไข้เองก็ต้องการการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากให้ได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่ามะเร็งที่มีการแพร่กระจายแล้ว


การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้นโดยดูจากอาการเพียงอย่างเดียวนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะอาการมักคล้าย ๆ กัน หรือไม่จำเพาะเจาะจงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยการตรวจทางทวารหนักร่วมกับการตรวจเลือดหาค่า PSA ร่วมด้วย


การตรวจร่างกายทางทวารหนักถ้าตรวจพบจุดที่มีความแข็งผิดปกติบนผิวต่อมลูกหมาก จะทำให้สงสัยมากขึ้นว่าอาจมีมะเร็งต่อมลูกหมากซ่อนอยู่ แต่การตรวจทางทวารหนักที่พบต่อมลูกหมากโตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่มีมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะอาจมีจุดที่เป็นมะเร็งซ่อนอยู่ในตำแหน่งอื่นของต่อมลูกหมากที่คลำไม่พบ ดังนั้นแพทย์จะทำการตรวจเลือดหาค่า PSA เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก


ในกรณีที่ค่า PSA สูงกว่าปกติจะทำให้สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น แต่มีบางภาวะที่ทำให้ค่าPSA ขึ้นสูงกว่าปกติโดยที่ไม่ได้มีมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ตัวอย่างเช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ การใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น ดังนั้นการที่ค่า PSA สูงก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป


เมื่อตรวจพบจุดที่ผิดปกติจากการตรวจทางทวารหนัก หรือค่า PSA สูงโดยที่ไม่พบสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากเป็นขั้นตอนต่อไป การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากนี้จะทำการตรวจโดยใช้เข็มเจาะผ่านการตรวจอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก เพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าพบเซลล์ที่ผิดปกติก็จะสามารถให้การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากได้ นอกจากการตรวจวิธีนี้แล้วยังอาจสามารถตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ MRI ที่ต่อมลูกหมากก่อนการตรวจชิ้นเนื้อแบบปกติทั่วไปได้


ประโยชน์ที่จะได้รับคือ ทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้นว่ามีจุดผิดปกติที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ถ้ามีสามารถบอกได้ว่าอยู่ที่ตำแหน่งใดของต่อมลูกหมาก และยังสามารถนำภาพที่ได้จากการตรวจ MRI ไปช่วยในการตรวจชิ้นเนื้อได้อีกด้วย ซึ่งการตรวจวิธีนี้มีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น ไม่เหมาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำMRI ได้ ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ และอาจทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจมากขึ้น เป็นต้น

Shares:
QR Code :
QR Code