สัญญานเตือนของภาวะโรคกระดูกพรุน
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์
แฟ้มภาพ
โรคกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกระดูกสะโพก หากปล่อยไว้อาจทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคกระดูกพรุน นับว่าอยู่ในจุดที่น่าห่วง โดยจากสถิติพบว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและหลอดเหลือด
สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนนั้นมาจากการที่ร่างกายขาดแคลเซียม รวมถึงในแต่ละช่วงวัยได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในวัยทารกต้องการปริมาณแคลเซียม 270 มิลลิกรัมต่อวัน วัยเด็กต้องการปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวัน วัยรุ่นต้องการปริมาณแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน วัยผู้ใหญ่ต้องการปริมาณแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยตลอดช่วงชีวิตร่างกายต้องการปริมาณแคลเซียม เฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
อาจารย์นายแพทย์เทพรักษา เหมพรหมราช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมุทรสาคร เผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับสถิติของโรคนี้ว่า ผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก จะมีโอกาสเสียชีวิตในปีแรกประมาณร้อยละ 20 และครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตภายใน 6 ปี นอกจากนั้น โรคกระดูกพรุนยังก่อให้เกิดอาการปวดหลัง หลังโก่งงอ เคลื่อนไหวลำบาก หายใจลำบาก ปอดทำงานได้ไม่ดี มีอาการเหนื่อยง่าย ส่งผลให้เกิดทุพพลภาพหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ปริมาณแคลเซียมในอาหารของไทย พบว่า อาหารภาคกลาง มีปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อร่างกาย โดยมีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุดเพียง 156 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ส่วนอาหารของภาคเหนือ มีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 251.8 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนย ชีส กุ้งแห้ง ปลากรอบ งาดำ ถั่วแดง เต้าหู้ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ใบชะพลู เป็นต้น