สัญญาณอันตราย โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

แพทย์เตือนภัยสัญญาณอันตราย แฉโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุพุ่ง


สัญญาณอันตราย โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ thaihealth


ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดการเสวนา ยาดี : กันลืม กันล้ม ในผู้สูงอายุ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา


พ.ญ.แสงศุลี ธรรมไกสร ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า "คู่มือกันลืม กันล้ม ในผู้สูงอายุ" ที่จัดทำขึ้นนี้ นับเป็นคู่มือที่ประชาชนอ่านแล้วเข้าใจง่าย ที่จะบอกถึงการลืมแบบไหนควรรีบต้องมาพบแพทย์ เพราะการลืมในผู้สูงอายุ ถือเป็นสภาวะที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้ โดยผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะพบภาวะสมองเสื่อม 1 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 1) ผู้สูงอายุตั้งแต่ 85-90 ปี พบภาวะสมองเสื่อมสูงถึง ร้อยละ 40


ทั้งนี้การเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ มีสัญญาณเตือนหลายประการ อาทิ มีความจำสั้น ถามซ้ำๆ เดิมๆ การวางแผนชีวิตหรืองานประจำต่างๆ อาทิ เคยไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ แต่กลับนับเงินทอนไม่ถูก หรือการจัดยากินไม่ถูก หรือเคยทำกับข้าว ตั้งกระทะได้ แต่กลับทำไม่ได้ รวมไปถึงการสับสนเรื่องวัน เวลา และสถานที่ สับสนเรื่องรูป ทิศทาง เช่น ขณะส่องกระจกจำตัวเองไม่ได้ เกิดอาการซึมเศร้า แยกตัว เป็นต้น หากพบอาการเช่นนี้ควรรีบพบแพทย์จะดีที่สุด


พ.ญ.แสงศุลี กล่าวต่อว่า อาหารเสริมกันโรคสมองเสื่อม ที่มีการโฆษณากันเอิกเกริก เช่น แปะก๊วย วิตมินซี น้ำมันตับปลา ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดๆ ที่พิสูจน์ว่า อาหารเสริมที่มีการโฆษณา สามารถรักษาและป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ แต่ผลวิจัยที่ยืนยันชัดเจน ในส่วนของเรื่องอาหารที่ สามารถช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ คือ อาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน ไดเอท ที่มีอาหารจำพวก ปลา ผัก ผลไม้ หรือกล่าวโดยรวมคือ


อาหารจำพวกผัก ผลไม้ เนื้อปลา สามารถช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ ฉะนั้นก่อนที่คิดจะเชื่อการโฆษณาเรื่องอาหาร เสริม ควรคิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ


ด้าน พ.ญ.ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า ในส่วนของยากันล้มถือเป็นเรื่องที่สำคัญในผู้สูงอายุ เพราะการล้มในผู้สูงอายุ จะนำไปสู่การบาดเจ็บที่รุนแรง ทั้งการเกิดกระดูกสะโพกหัก เลือดออกในสมอง เป็นต้น จนนำไปสู่การช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งภาวะนอนติดเตียงเป็นเวลานาน หากอยากให้เดินได้ต้องใช้การทำกายภาพบำบัดมาช่วย


ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดการล้ม ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ปัจจัยจากความเสื่อมของร่างกายของผู้สูงอายุเอง เช่น สายตาที่เริ่มมองไม่เห็น การได้ยินของหูลดด้อยลง รวมไปถึงการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ เป็นต้น และปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่มาจากทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ทั้งเรื่องของทางเดินที่ต้องระมัดระวังการลื่นในห้องน้ำโดยไม่มีราวจับ เป็นต้น ฉะนั้น คนในครอบครัวจึงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุด้วย และที่สำคัญในส่วนของผู้สูงอายุเองก็ควรออกกำลังกายในแบบของผู้สูงอายุร่วมด้วย


ด้าน พ.ญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุเมื่อเกิดการล้มแล้ว ญาติๆ มักไม่ยอมให้ผู้สูงอายุทำการผ่าตัดสะโพก ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ผิด ทุกวันนี้อายุ 90 ปี ก็สามารถทำการผ่าตัดได้ แต่การผ่าตัดนั้นก็ต้องคำนึงถึงการเป็นคนใจสู้เป็นสำคัญ โดยดูในเรื่องสภาพจิตใจไหวไหม และสภาพร่างกาย เพราะเมื่อมีการผ่าแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุก็จะดีขึ้น อย่างน้อยก็สามารถเดินเองได้ เป็นภาระลูกหลานน้อยลง


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code