สัญญาณจากอุทกภัย

ปฏิรูปต้องทวนกระแส

 

 สัญญาณจากอุทกภัย

 

          เหตุอุทกภัยน้ำท่วมจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลแม่น้ำชีในภาคอีสานตามด้วยพื้นที่อาณาบริเวณกว้างของภาคกลาง เบ็ดเสร็จกว่า 30 จังหวัด และยังกระหน่ำซ้ำพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ อย่างที่เรียกว่า รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษนั้น

 

          นอกจากความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้ว  สิ่งที่เราได้สดับรับฟังท่ามกลางความยากเข็ญหดหู่ทุกข์ใจ ดูเหมือนจะเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและไม่อาจจะหาที่เปรียบได้ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ในหลวงของเรา” ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยมีความหวังและอยากลุกขึ้นร่วมกันสู้

 

          “ในหลวงของเรา” แม้ทรงยังต้องพักรักษาพระวรกายอันเนื่องมาจากอาการพระประชวรและประทับในโรงพยาบาล แต่ก็ยังทรงเป็นห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ ดั่งคำมั่นสัญญาของพระองค์ที่เคยตราตรึงใจคนไทยทั้งชาติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2489 เมื่อวันที่กำหนดเวลาที่จะเสด็จฯ กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

          จากงานบันทึกของผู้ใกล้ชิด ซึ่งได้นำมาเผยแพร่ในเวลาต่อมา บอกว่า..วันนั้น ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทับ และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย

 

          ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ก็มีเสียงหนึ่งที่ตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” ในขณะนั้นทรงนึกตอบในในพระทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” จากวันนั้นจนถึงวันนี้ “ในหลวง” ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนแม้แต่วินาทีเดียว

 

          อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายมีการนำเสนอว่า ในวิกฤตนั้นมีโอกาส โดยมีเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เคยใส่เสื้อคนละสี แบ่งกันเป็นคนละฝ่าย หันมาจับมือกันด้วยหัวใจดวงเดียวกันนั่นคือ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียว เราคนไทยต้องช่วยเหลือกันยามยาก

 

          อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ท่ามกลางความชื่นชมยินดีที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกันนั้น และภายใต้บรรยากาศน้ำท่วมขังเจิ่งนอง สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลคาดว่าประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาทนั้น เริ่มมีคำถามที่หนาหูว่า สัญญาณจากน้ำท่วมครั้งนี้ เป็นการเตือนภัยจากธรรมชาติที่บอกว่า โลกกำลังร้อนขึ้นจนน่าเป็นห่วงหรือเปล่า?

 

          แล้วรัฐบาลไทยได้สังเคราะห์บทเรียนหรือสัญญาณเตือนภัยจากน้ำท่วม เพื่อการเตรียมพร้อมหรือป้องกันภาวะโลกร้อนหรือไม่..มากน้อยเพียงใด?

 

 สัญญาณจากอุทกภัย

 

          ใช่แล้ว! ในฐานะผู้บริหารประเทศ รัฐบาลย่อมต้องจัดอันดับความสำคัญก่อนหลังในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่คงไม่ใช่นักบริหารที่ดี สมควรแก่การไว้วางใจจากประชาชนแน่นอน หากผู้มีอำนาจหรือมีหน้าที่รับผิดชอบ จะนั่งทอดหุ่นรอให้ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นแล้วค่อยตามล้างตามเช็ดเหมือนอย่างทุกวันนี้หรือคล้ายกับทุกๆ ปีที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

 

          ผมจึงเห็นว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับเครือข่ายภาคประชาชน 30 เครือข่ายที่ได้ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกแผนแม่บท 10 ปีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกำหนดจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ โดยภาคประชาชนต้องการให้รัฐบาลายกเลิกร่างแผนแม่บทฉบับดังกล่าวและจัดทำร่างใหม่โดยภาคประชาชน

 

          สาระสำคัญของการออกมาเคลื่อนไหวของชาวบ้านในครั้งนี้ผมว่าสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครับ เข้าทำนองที่ว่า คนทำ (แผน) ไม่เกี่ยว คนเกี่ยวไม่ได้ทำ (แผน) แม้มันจะไปเข้ากระแสปัญหาน้ำท่วม แต่มันก็ใกล้เคียงจริงไหมครับ เพราะสภาพภูมิอากาศที่วิปริตผิดแผกจากอดีต ทำให้ความแปรปรวนของล้มฟ้าอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้าน ดังนั้น คงจะไม่ใช่การคิดหรือตั้งข้อสังเกตที่ผิดทั้งหมดว่า ปัญหาน้ำท่วมมีนัยสำคัญกับปัญหาโลกร้อน

 

          เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้ เสียงของชาวบ้าน 30 เครือข่ายที่ขอให้รัฐทบทวนแผนแม่บทว่าด้วยการจัดการปัญหาภูมิอากาศ จึงต้องจัดอยู่ในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่ไม่สามารถมองข้ามความจำเป็นอีกต่อไป

 

          โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านระบุว่า พวกเขาไม่ใช่ปัญหาใหญ่ทำให้โลกร้อน แต่กลับถูกจับเป็นจำเลยสังคม ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม นายทุนขนาดใหญ่ เจ้าของรีสอร์ท เจ้าของโรงแรมหรือแม้แต่คนในกรุงเทพมหานคร กลับได้รับบทบาทเป็นผู้เยียวยาและมีความพยายามแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ทำนา จับปลา เก็บของป่า ปลูกพืชผักสวนครัวและอื่นๆ ฯลฯ

 

          การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในปัญหาภัยธรรมชาติ จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายหลังน้ำลดครับ และผมว่าเป็นเวลาที่ต้องทบทวนกระแสกันเสียที นั่นคือคิดและแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ มิใช่แค่แจกเงินแจกของ แล้วก็ปล่อยให้เป็นอดีตที่ไม่คิดจะแก้ไขเพื่ออนาคตที่ดีว่า..เซ็ง! แทนประเทศไทยครับ

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นายใฝ่ฝัน…ปฏิรูป

 

 

Update : 18-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code