`สังคมสูงวัย` ความท้าทายที่ไทยต้องไปให้ถึง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยรัฐ
เวทีสัมมนา "Active and Productive Ageing : ความท้าทายที่ไทยต้องไปให้ถึง"
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้กลายเป็นอีกหนึ่งเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างยั่งยืน
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้จัดการชุดโครงการพัฒนาคุณภาพ และประเมินติดตามชุดโครงการวิจัย และสังเคราะห์เชื่อมโยงการพัฒนา นโยบายด้านผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาในหลายด้าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศเรายังไม่ก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลางเช่นนี้ ซึ่งจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่สอง พ.ศ. 2545-2564 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม" มองว่าผู้สูงอายุ จะเป็นเช่นนั้นได้ต้องมีความมั่นคงทางสังคม (Social security) มีสุขภาพที่ดี (Healthy) มีส่วนร่วมในครอบครัว ชุมชน และสังคม (Participation) รวมถึงการยังประโยชน์ต่อบุคคลอื่นในครอบครัว ชุมชน และสังคม
การจัดเวทีดังกล่าวนี้จึงมุ่งค้นหา "แผนงานบริหารจัดการโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่อง Active and Productive Aging" ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมของแรงงานวัย 45 ปีขึ้นไปเพื่อก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างกระปรี้กระเปร่าในกลุ่ม ลูกจ้างภาคเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวใน ภาคราชการ และแรงงานนอกระบบ 2) การพัฒนาศักยภาพและบทบาทของ ผู้สูงอายุผ่านกลไกรูปแบบชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) และ การรวมกลุ่มตามกิจกรรมหลายช่วงวัย และ 3) การเตรียมความพร้อมของระบบเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะในด้านการพัฒนาตัว ชี้วัดพฤฒิพลัง การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มและสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ซึ่งเชื่อว่าจากข้อค้นพบดังกล่าวจะนำมาสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการ และกลไกที่เสนอให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณานำไปขับเคลื่อนให้เป็น รูปธรรมเพื่อทำให้เกิด "สังคมสูงวัยอย่างกระปรี้กระเปร่า (Active and Productive)" อย่างแท้จริง
อีกฟากความคิดจาก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากร กลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภรณี ภู่ประเสริฐ กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยชุดนี้ ถือเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีฐานคิดจาก งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยได้วิเคราะห์ให้เห็นข้อค้นพบเชิงประจักษ์จากงานวิจัยด้านนโยบาย และการทำงานในระดับพื้นที่ ทำให้เห็น จุดแข็ง และจุดอ่อน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนี้ ที่มีความครอบคลุมทุกมิติที่เอื้อต่อ การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
"ในส่วนของ สสส. สามารถนำข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ในประเด็นด้านสุขภาพ และด้านสังคม ไปใช้ในการวางแผนการสนับสนุนโครงการเพื่อหนุนเสริมการเตรียม ความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ตามพันธกิจ สสส. รวมถึงร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเพื่อนำข้อค้นพบ และข้อเสนอเชิงนโยบาย ไปขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายที่มีคนทุกช่วงวัยร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม หรือทำให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมและเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง" ภรณีกล่าวทิ้งท้าย