สอส.จับมือ สสส.จัดกิจกรรมร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่
แผนงานพัฒนาสถาบันการศึกษาสาธารณสุขให้เป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ สสส. หนุนเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาธารณสุขทั้ง 17 แห่ง ทั่วประเทศ ลงพื้นที่วิจัยชุมชนใกล้มหาวิทยาลัยหรือชุมชนที่ประสบภัยวิกฤติ ในโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ส่งเสริมนักศึกษาร่วมคิด ร่วมแก้วิกฤติปัญหาสังคมไทย
ปัญหาสังคมที่เราได้เคยพบเห็นและคุ้นเคยกันมาแต่เดิม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ปัญหาวิกฤติจากสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้าวยากหมากแพง เกิดโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ ฯลฯ ตลอดจนปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมีหน่วยงานประจำในการแก้ปัญหาเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ก็มีคำถามจากสังคมว่า สถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทที่จะพาชาติออกจากวิกฤติเหล่านี้ได้อย่างไร …
โครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด จึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยการพัฒนาวิชาการเพื่อรับใช้สังคม สร้างกระบวนการให้เกิดการยอมรับในวงวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมดูแลพื้นที่กับจังหวัดส่งเสริมขบวนการนักศึกษาให้มีอุดมการณ์ มีความเป็นพลเมืองเพื่อส่วนรวม และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้วิกฤติชาติ
แผนงานพัฒนาสถาบันการศึกษาสาธารณสุขให้เป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ(สอส.) ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการพัฒนาเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาธารณสุขทั้ง 17 แห่ง ทั่วประเทศให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ การวิจัยชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ใกล้มหาวิทยาลัยหรือชุมชนที่ประสบภัยวิกฤติ
มหาวิทยาลัยหลายแห่งภายใต้การสนับสนุนของแผนงาน สอส.ได้ดำเนินงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ และได้ขยายบทบาทของมหาวิทยาลัยจากการรับผิดชอบ 1 ชุมชน เป็น 1 ตำบล/ 1 เทศบาล จนเกิดเป็น 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ดังเช่น มหาวิทยาลัยพะเยา ที่มีการทำ mou กับจังหวัดพะเยาเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวพะเยาในทุกมิติ และได้เพิ่มบทบาทให้ทุกคณะมีส่วนร่วมจนเกิดเป็นโครงการ “1 คณะ 1 อำเภอ”
หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรง ที่จะปฏิวัติวงการอุดมศึกษาไทย คือเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาธารณสุขให้เป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สอส.โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุกสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
เป้าหมาย สอส. คือ ปรับสภาพให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีคณะด้านสาธารณสุข ให้เป็นห้องตรวจสุขภาพ นำความรู้ความชำนาญของนิสิตนักศึกษาที่มีอยู่ มาพัฒนาสุขภาพบุคลากรนิสิตนักศึกษา เป็นอันดับแรก แล้วจึงลงพื้นที่ไปดูแลชุมชนต่างๆ ที่อยู่รอบสถานศึกษา 4 ปี ของการดำเนินโครงการ เห็นความก้าวหน้า หลายที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งส่งนักศึกษาและคณาจารย์ ไปสัมผัสกับปัญหาด้านสาธารณสุขชุมชนจนประสบผลสำเร็จจนถึงขั้นที่ได้รับความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือเทศบาลตำบลแม่กา และได้จับมือพัฒนาสุขภาพของชุมชนใน ต.แม่กา จนสามารถขยายไปถึงความร่วมมือนี้ไปจนถึงองค์กรปกครองระดับจังหวัด
นพ.ประเวศ วะสี ให้นิยามโครงการนี้ว่า พื้นที่ คือความจริงของชีวิต และการอยู่ร่วมกันทั้งระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มีคน องค์กร สถาบันต่างๆ มากมาย ถ้าคนองค์กรสถาบันต่างๆ เหล่านี้เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ชุมชนท้องถิ่นก็จะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการไปพร้อมกัน อย่างน้อย 8 เรื่อง คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย หากมหาวิทยาลัยไปร่วมในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ ที่เอาพื้นที่หรือชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง และจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปด้วยในตัว
ด้าน นพ.วิชัย เทียนถาวร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำเป็นอย่างมากที่ทุกสถาบันอุดมศึกษาจะต้องทำโครงการนี้ และจะต้องสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในมหาวิทยาลัยทุกแห่งล้วนแต่มีบุคลากรที่มีความรู้สูง มหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนประเทศ เช่น สถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ก็เปรียบเหมือนมีกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในมหาวิทยาลัย สถาบันที่มีคณะรัฐศาสตร์ก็เหมือนมีมหาดไทยอยู่ด้วย
“ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเองก็จะต้องทำได้ถ้าจับคอนเซปต์ให้ได้ ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องเล็กๆ หรือแค่ไปทำงานวิจัยในพื้นที่อย่างเดียว ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ไปร่วมกันคิดค้นแก้ปัญหาด้วย ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ทุกแขนงในสถาบันอุดมศึกษาก็จะลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง” นพ.วิชัยกล่าว
ไม่ว่าหนทางจะยาวไกลแค่ไหน แต่เกิดมาเป็นคนไทยแล้ว ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องร่วมกันแก้วิกฤติ เพราะปัญหาทุกอย่างนั้นล้วนเกิดขึ้นมาจากตัวเรา การสร้างชาติกอบกู้ชาติ ไม่ได้มาจากพลังของคนที่มาชุมนุมบนท้องถนน แต่มาจากพลังคนรุ่นใหม่ ปัญญาชนในสถานศึกษา ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม
โครงการดีๆ “1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด” จะเป็นโครงการที่สำคัญและมีบทบาทในการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ