สอนเด็กเรียนรู้เรื่องฉุกเฉินลดตายจากอุบัติเหตุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์


สอนเด็กเรียนรู้เรื่องฉุกเฉินลดตายจากอุบัติเหตุ thaihealth


จากสถิติพบว่า เด็กไทยที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุ เช่น จมน้ำ ไฟฟ้าดูด และการจราจรบนท้องถนน ซึ่งถือเป็นภัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่รู้หรือไม่ว่าหากผู้ใหญ่เข้าใจและสนับสนุนด้วยการเสริมทักษะเอาชีวิตรอด และปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ลูกหลาน ก็จะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ พิการ และตายของเด็กลงได้ตามลำดับ


เช่นเดียวกับกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านค่าย "เตรียมตัวรู้รอด" ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่โรงเรียนราชวินิตประถม เขตดุสิต กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีนักเรียนชั้นประถม 4-6 เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้การสนับสนุนจากสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถิติในปี 2557 ในรอบ 1 ปีมีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 มากกว่า 1,249,180 ครั้ง สาเหตุที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่เสียชีวิตคือ จมน้ำ อุบัติเหตุจราจร ไฟฟ้าดูด สำลักสิ่งต่างๆ เข้าหลอดลม ทางเดินหายใจถูกกดทับ การพลัดตก นอกจากนี้ยังพบว่า แต่ละปีมีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 25 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ


อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธีจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ดังนั้นทางสมาคมฯ ร่วมกับ สสส.จึงเกิดแนวคิดจัดทำโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมาเพื่อปูพื้นฐานพัฒนาทักษะชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผ่าน 5 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ข้อ 1 ดูแลตนเอง ป้องกัน เตรียมความพร้อม ประเมินความเสี่ยงจากอันตราย ข้อ 2 เจ็บป่วยจากสาเหตุที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ข้อ 3 เมื่อเผชิญเหตุการณ์สาธารณภัย ข้อ 4 กินเพื่อสุขภาพ และข้อ 5 เมื่อพบผู้ป่วยจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ


ทั้งนี้ จาก 5 ฐานการเรียนรู้นั้น ได้มีวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินมาให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน ซึ่งความรู้ที่ได้มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้ข้อมูลในการปฐมพยาบาลและช่วยเหลือตนเองหรือผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง


ด้าน ด.ช.ณัชพล เสือเปลี่ยว หรือน้องมันเดย์ อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.5  โรงเรียนราชวินิตประถม กล่าวว่า การเข้าค่ายในครั้งนี้ เพราะคุณครูประจำชั้นเลือกให้เข้ามาเป็นตัวแทนของห้อง ซึ่งตอนแรกที่ได้ยินชื่อค่ายนี้ก็คิดว่าเป็นกิจกรรมที่น่าจะสนุกและสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ต่อมาพอได้เข้าค่ายจริงกลับมีความแตกต่างจากที่คิดไปเยอะมาก มีกิจกรรมให้ทำเยอะมากๆ มีสถานที่ให้เราได้ทดลองทำจริง วิทยากรใจดี และที่สำคัญมีทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดเมื่อมีภัยมา หรือหนทางหลีกเลี่ยงก่อนที่อันตรายจะเข้ามา


"สิ่งที่ผมได้จากการเข้าค่ายครั้งนี้คือ ทำให้รู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยฐานที่ชอบมากที่สุดคือ ฐานปั๊มหัวใจ ที่มีหุ่นให้พวกเราหัดปั๊มหัวใจด้วย ถ้าใครทำถูกวิธีจะมีไฟเขียวขึ้นมา กับอีกฐานที่ชอบคือ ฐานล้างมือ ตรวจมือว่าสกปรกหรือไม่ จะมีตู้ให้เราสอดมือเข้าไปแล้วจะเห็นว่าเราล้างมือได้สะอาดหรือไม่ ผมคิดว่าความรู้ที่ได้ไปวันนี้จะนำไปบอกพ่อแม่ เพื่อให้คนในครอบครัวรู้จักวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้"


"น้องมันเดย์" บอกต่อว่า การเข้าค่ายในครั้งนี้ถือว่ามีความจำเป็นมาก เพราะความรู้ที่ได้รับสามารถช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว จึงอยากฝากให้เพื่อนๆ ว่าการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ และอยากให้โรงเรียนสอนเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพิ่มเติมขึ้นไปอีกด้วย


ด.ญ.ธิชิรา พานพระ หรือน้องมิว อายุ 10 ปี ชั้นประถมศึกษาปี 4 โรงเรียนราชวินิตประถม บอกเล่าความรู้สึกที่ได้มาเข้าค่ายครั้งนี้ว่า เป็นค่ายที่สนุกมาก อีกทั้งยังได้เพื่อนใหม่ๆ กิจกรรมที่ชอบคือ ฐานปั๊มหัวใจ เพราะได้พลิกตัวเพื่อน ซึ่งแต่ก่อนปั๊มหัวใจไม่เป็นเลย และเวลาเล่นก็ปั๊มกันแบบมั่วๆ แต่ตอนนี้ได้รู้วิธีปั๊มหัวใจที่ถูกต้องแล้ว


"สิ่งที่ได้คือความรู้ในการช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว สังคม และไม่ควรแกล้งเพื่อน เพราะอาจจะทำให้ได้รับอันตรายได้ อีกทั้งยังได้ความรู้จากที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ว่าต้องกดจุดไหนถึงจะรอด การไปช่วยคนอื่นต้องเข้าไปอย่างไรเพื่อให้เราและเขาปลอดภัยทั้งคู่"


"น้องมิว" กล่าว และว่า การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้หนูได้รู้คำว่า "ฉุกเฉิน" คือต้องสำคัญ เร่งด่วนมาก รวดเร็ว สมมติว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา เราต้องไปช่วยเหลือด้วยความรวดเร็ว แต่ถ้ามันเกินความสามารถของหนูก็ให้โทร.ไปที่เบอร์ 1669


"ที่ผ่านมาหนูยังไม่เคยเรียนเรื่องการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินเลย พอเข้าค่ายครั้งนี้ได้รับความรู้มากเลย จากนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปเล่าให้คนในครอบครัวฟังว่าแต่ละฐานเป็นอย่างไร และต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งคิดว่าการช่วยเหลือที่เด็กๆ แบบพวกเราจะช่วยได้คือการโทร.หา 1669 ให้มาช่วย ส่วนการปั๊มหัวใจคิดว่าเด็กๆ อย่างพวกหนูไม่น่าจะทำได้ เพราะมันต้องใช้แรงและมีจังหวะ เพราะบางคนก็นับเร็วไป บางคนก็ทำช้าไป แต่ถึงจะช่วยไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็มีความรู้ติดตัวต่อไปในอนาคต" เด็กประถมศึกษาปี 4 โรงเรียนราชวินิตประถมกล่าวปิดท้าย


ทักษะชีวิตและหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเหล่านี้จะเป็นความรู้ติดตัวให้แก่เด็กๆ ไปตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัว และสังคม ด้วยการลดอัตราบาดเจ็บ พิการ และตายจากเหตุไม่คาดฝันได้

Shares:
QR Code :
QR Code