สอนลูกเคารพงาน ลิขสิทธิ์ผู้อื่น
ชี้ “เน็ต” กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพุ่ง
เป็นปัญหาที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” กับ “การละเมิดลิขสิทธิ์” เพราะสังคมไทยยุคใหม่ ถูกเบียดเสียดด้วยโลกออนไลน์จนแทบจะหาที่ว่างไม่เจอ ทำให้ “อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งบางครั้งอาจเป็นผลเสียทำให้เด็กไทยติดนิสัย “ก็อปปี้-เพสต์” หรือ “โหลด ไรท์ จ่าย แจก” โดยรู้ไม่เท่าทันว่า พฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว
เรื่องลิขสิทธิ์ ถือเป็นหัวข้อสำคัญที่พ่อแม่จะต้องสอนลูกตั้งแต่เล็ก และเพื่อลดพฤติกรรมนิยม “ลูกช่างก็อป” ข้างต้น “ปัจฉิมา ธนสันติ” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้ความรู้ในประเด็นอันน่าสนใจนี้ว่า “ลิขสิทธิ์” เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า เปิดวิทยุฟังเพลง บทเพลงก็เป็นงานลิขสิทธิ์ เปิดโทรทัศน์ดูข่าว ภาพข่าวก็เป็นงานลิขสิทธิ์ หรือเด็กๆ บางคนชอบดูการ์ตูน ตัวการ์ตูนก็ถือเป็นงานลิขสิทธิ์เช่นกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เด็กทุกคนอยู่ใกล้ชิดกับงานลิขสิทธิ์มาก แต่บางครั้งขาดความเข้าใจว่าคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องสอนลูก ลดพฤติกรรมละเมิดงานของคนอื่น
สอนลูกเข้าใจ “ลิขสิทธิ์” เริ่มต้นจากตัวลูก
สำหรับการปลูกฝังลูกตั้งแต่เด็ก ถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แนะแนวทางว่า เด็กส่วนใหญ่จะมีจินตนาการเป็นของตัวเอง ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ที่ชอบเล่นตุ๊กตา พ่อแม่อาจให้เด็กวาดรูปตุ๊กตา หรือรูปอื่นๆ ตามจินตนาการของเด็ก จากนั้น อธิบายให้ลูกฟังว่า ผลงานที่ลูกสร้างสรรค์ขึ้น ลูกได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว เพราะถ้าหากใครสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ จะได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติโดยไม่ต้องจดทะเบียน แต่ทั้งนี้ตัวการ์ตูนที่วาดจะต้องไม่ใช่ตัวการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว
นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ชอบเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เด็ก สามารถสอดแทรกเรื่องลิขสิทธิ์เล็กๆ ลงไปได้ เช่น เวลาอ่านนิทาน ไม่ควรเปิดหนังสือ แล้วเล่าให้ลูกฟังอย่างเดียว แต่ควรบอกลูกตั้งแต่ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง หรือคนเขียนนิทานเล่มนี้ด้วย เพื่อให้เด็กได้รู้ว่า หนังสือที่คุณแม่กำลังอ่านให้ฟังนั้น เป็นหนังสือที่มีเจ้าของ
อย่างไรก็ตาม คงจะปฎิเสธไม่ได้ว่า เด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่จะมีแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ แทนการเข้าห้องสมุด ทำให้เวลาทำการบ้าน หรือทำรายงาน มักจะดึงข้อมูลจากเว็บไซต์นั้นๆ มาทั้งดุ้น ซึ่งมีจำนวนน้อยที่อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่ค้นหาข้อมูลร่วมกับลูก โดยเฉพาะ
ลูกเล็ก ควรสอนเรื่องนี้เป็นพิเศษเช่น สอนให้ลูกเคารพข้อมูลของคนอื่น ด้วยการระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน
แต่สำหรับเด็กโต อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้แนวทางว่า คุณพ่อคุณแม่อาจยกตัวอย่างให้ลูก
เห็นว่า งานลิขสิทธิ์ที่ใช้เพื่อความบันเทิง เช่น ฟังเพลง เล่นเกม แผ่นหนัง หรือแผ่นเพลงนั้น สิ่งเหล่านี้ กว่าจะสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงาน ต้องใช้ความพยายาม และระยะเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากไม่มีคนเขียนเพลง คนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เด็กๆ ก็จะไม่มีเพลงฟัง หรือไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยากต่อการทำความเข้าใจแก่เด็ก
“การทำให้เด็กรู้จักงานลิขสิทธิ์ ควรเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กเป็นเด็กช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกได้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ที่มาจากความอุตสาหะของตนเอง เช่น แต่งนิทาน หรือแต่งเพลงด้วยตัวเอง โดยทั้งนี้พ่อแม่อาจส่งเสริมให้ลูกมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากงานสร้างสรรค์ชของลูกเองก็ได้ นั่นจะช่วยให้เด็กเคารพ และระวังที่จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นในอนาคตต่อไป”
“ดังนั้นลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเด็กจะดูตัวอย่างจากคนใกล้ตัว หรือสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรละเลย พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก หากพ่อแม่ยังซื้อซีดีเพลงมาเปิดให้ลูกฟัง หรือซื้อภาพยนตร์การ์ตูนมาเปิดให้ลูกดู ก็ควรซื้อของที่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้งไม่สนับสนุนให้ลูกก๊อปปี้ซีดีเพลง ภาพยนตร์ หรือหนังสือเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการใช้งานลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ astvผู้จัดการ
update:06-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร