สอจร.แนะมาตรการป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางม้าลาย
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
แฟ้มภาพ
หมอกระต่าย ไม่ใช่เคสแรก สอจร.ชี้ 6 ปี คนเดินเท้าบาดเจ็บอุบัติเหตุบนถนน 224,068 คน เฉลี่ยปีละ 41,000 เสนอ 5 มาตรการป้องกัน-11 รูปแบบลดอุบัติเหตุทางม้าลาย เตือนผู้ใช้รถขับขี่ด้วยความระมัดระวัง คิดเสมอว่ามีคนเดินเท้าใช้ถนนร่วมด้วย
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และ รองประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากกรณีของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนเดินข้ามถนนถูกชนเสียชีวิตตรงทางม้าลาย ข้อมูลการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2559-2564 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนเดินเท้าบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนนรวม จำนวน 224,068 คน เฉลี่ย 41,000 คนต่อปี ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก และยังพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคู่กรณีที่เป็นเหตุให้คนเดินเท้าบาดเจ็บ คือ รถจักรยานยนต์
“ทางเครือข่าย สอจร.ขอเสนอมาตรการสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุสำหรับคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ดังนี้ 1. มาตรการด้านวิศวกรรมจราจร ที่ทำให้รถต้องชะลอความเร็วเมื่อขับผ่านทางม้าลาย 2. มาตรการด้านกฎหมายที่จำกัดความเร็วเมื่อขับผ่านแหล่งชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด และ ทางม้าลาย 3. มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง สำหรับผู้กระทำผิด 4. มาตรการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักของผู้ใช้รถใช้ถนน แจ้งข่าวการเอาจริงในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการขอความร่วมมือประชาชน ในการเป็นตาอาสาจราจร แจ้งเหตุรถที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน และ 5. มาตรการด้านการกำกับติดตามประเมินผล หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกภาคส่วน จะต้องถือว่าคนเดินถนนเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเหมือนผู้ใช้รถใช้ถนนกลุ่มอื่น ๆ จึงต้องมีมาตรการเพื่อปกป้องคนเดินถนนไม่ให้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน” นพ.วิทยา กล่าว
นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า รูปแบบทางข้ามมาตรฐานจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ 1. ทางม้าลาย 2. เส้นหยุดแบบ Advance Stop Line มีระยะหยุดห่างจากทางม้าลาย เพื่อเพิ่มมุมมองการมองเห็น 3. เส้น Optical Speed Bar (O.S.B.) เพื่อบีบช่องจราจรให้แคบลง 4. ป้ายเตือนว่ามีทางข้าม 5. สัญลักษณ์บนผิวจราจรเพื่อเพิ่มความชัดเจนของผู้ขับขี่ 6.เพิ่มกรวยยางให้เห็นชัดขึ้น และเพื่อบีบช่องจราจรให้แคบลง 7. ติดสัญญาณไฟกระพริบ 8. ทำเกาะกลางข้ามถนนให้คนข้ามได้หยุดพัก 9. ราวข้างถนนเพื่อบังคับให้คนข้ามต้องข้ามถนนตรงทางม้าลายเท่านั้น 10. มีไฟส่องสว่างให้เห็นได้ชัดยามกลางคืน และ 11. จุดถนนที่มีคนข้ามจำนวนมาก ต้องติดสัญญาณไฟเขียว ไฟแดง เพื่อให้รถหยุดให้คนข้าม ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถทุกคนจะต้องคิดเสมอว่า บนท้องถนนก็มีคนเดินถนนที่จะต้องใส่ใจ ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก