สองล้อหมุน ‘ปั่นปันปัญญา’ ปันหนังสือ-เรียนรู้วัฒนธรรม
ขณะนี้คงเป็นเวลาน้องๆ หนูๆ ที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนมีความสุขกันทั่วหน้า เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ที่จะได้พักผ่อนจากการเรียนอันคร่ำเคร่งมาตลอดหลายเดือน
เด็กบางคนเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาว่างในการเรียนพิเศษ หาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในเทอมถัดไป เด็กบางคนอาจเลือกที่จะให้ผู้ปกครองพาไปเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ หากแต่เด็กบางคนอาจยังไม่รู้ว่าช่วงปิดเทอมจะไปทำกิจกรรมอะไรดี?
เมื่อไม่นานมานี้เองทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพฯ มหานครแห่งการอ่าน เมืองหนังสือโลก ปี 2556 (world book capital 2013), ชมรมจักรยาน, บริษัท แอล เอ ไบค์ซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด, พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ และบริษัท ไวตามิลค์ จำกัด จัดกิจกรรม “ปั่นปันปัญญา ตอน ปิดเทอมสร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข” ให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอม ค้นหาแรงบันดาลใจไปกับ 3 ห้องสมุดของกรุงเทพมหานคร
กิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากเด็กๆ เป็นอย่างดี มีเด็กสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
โดยเด็กที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนั้นจะเก็บค่าเข้าร่วมกิจกรรมเป็น “หนังสือ” อย่างน้อยคนละ 1 เล่ม เพื่อที่จะนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อ่าน เป็นการทำกิจกรรมที่สอนให้เด็กๆ เกิดความรู้เรื่องการแบ่งปันหนังสือให้ผู้อื่น และเป็นการเรียนรู้กฎจราจร การขับขี่อย่างปลอดภัยไปด้วย เนื่องจากเด็กๆ จะได้ขี่จักรยานบนถนนจริงๆ จากลานคนเมือง เสาชิงช้า มุ่งหน้าตามถนนมายังพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ เขตดุสิต
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เล่าว่า โครงการปั่นปันปัญญานั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัย หลังน้ำท่วมนั้นเราพบว่าหนังสือในห้องสมุดต่างๆ ได้รับความเสียหาย จึงปรึกษากับ ปราณี สัตยประกอบ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ได้บอกว่ามีกลุ่มปั่นจักรยานที่สามารถเข้าร่วมในเรื่องการนำหนังสือไปให้ชุมชนที่ถูกน้ำท่วมได้ เนื่องจากบางชุมชนนั้นเส้นทางเล็กมากไม่สามารถนำรถเข้าไปได้ การที่ได้กลุ่มจักรยานมาช่วยก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้เด็กที่ได้รับหนังสือต่างมีความสุข
ส่วนการจัดกิจกรรม เพราะมองว่าก่อนหน้านี้เป็นการที่ผู้ใหญ่นำความปรารถนาดีไปให้เด็กๆ แต่ว่าเด็กๆ เองก็มีพลังในการที่จะแบ่งปันหนังสือให้กับคนอื่นๆ ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าร่วมนั้นรู้กติกาว่าหากจะเข้าร่วมกิจกรรมต้องนำหนังสือมาด้วยอย่างน้อย 1 เล่ม ซึ่งก็ทำให้ได้หนังสือไปแบ่งปันเด็กคนอื่นๆ อีกกว่าร้อยเล่ม
ผู้จัดการแผนงานกล่าวอีกว่า รวมทั้งช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเด็กๆ จึงนำเรื่องการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน การเรียนรู้ การแบ่งปันหนังสือมาผนวกรวมกัน เพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์รวมทั้งให้รู้จักการเสียสละ การแบ่งปันเพื่อคนอื่นสกุล อิน
ทกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ กล่าวว่า คือเราตั้งใจในการทำกิจกรรมกับเด็กๆ อยู่แล้ว ทางพิพิธภัณฑ์เองก็มีกิจกรรมให้เด็กอายุ 7-14 ปี เข้าร่วมทุกเสาร์แรกของเดือน ทั้งชมพิพิธภัณฑ์และร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับดอกไม้ เพราะอยากให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ เข้ามามองวัฒนธรรมของตัวเองในมุมมองที่ต่างจากเดิม เพราะดอกไม้ก็มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแยกไม่ออก อยากให้เด็กได้เห็น ได้รับแรงบันดาลใจ เพราะสำหรับเด็กๆ แค่เห็นนิดเดียวก็เป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้แล้ว
แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเด็กๆ ที่ได้ปั่นจักรยานกับเพื่อนๆ ก็ไม่หายไปไหน
ถือเป็นการทำกิจกรรมที่ได้ทั้งความสนุก ได้ทั้งความรู้ และยังได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปันหนังสือกับผู้อื่นอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน