สองขาเดิน สองล้อหมุน เกื้อกูลกัน
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และสนับสนุนให้พลเมืองของตนตระหนักถึงประโยชน์ของ “การเดิน” และ “การใช้จักรยาน” ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ เช่นกัน เมื่อได้มี มติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้ จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่จะส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักถึง การเดิน และการใช้จักรยาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้กับตนเอง
แน่นอนว่า งานนี้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ย่อมได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องดังกล่าว ไปเรียบร้อยแล้ว
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย บอกว่า ภายหลังการลงนามความร่วมมือจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทบทวนมาตรฐานเดิมที่มีอยู่ว่ามีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงให้รอบคอบและรัดกุมมากขึ้นอีกบ้าง ทั้งทางด้านความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์ป้องกัน และที่สำคัญคือต้องให้ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ คนเดิน ผู้ใช้จักรยาน ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ และผู้สูงอายุ โดยการสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก่อนเป็นอันดับแรก
ดร.ธงชัยกล่าวย้ำให้ได้ยินกันดังๆ ว่า ข้อมูลความรู้ ทางวิชาการนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาใช้เป็นองค์ความรู้ในการวางแผน ก่อนที่จะเดินหน้าพัฒนาอุปกรณ์จักรยาน และ เตรียมความพร้อมของพื้นที่ในการขี่จักรยานที่เอื้อต่อผู้ใช้วีลแชร์ ด้วย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ทางภาคอุตสาหกรรมสามารถช่วยได้ ต่อมา คือ เรื่องของระเบียบข้อบังคับ ยกตัวอย่างเช่น การควบคุม การสร้างอาคารให้มีพื้นจอดจักรยานโดยใส่เป็นมาตรฐานบังคับ เพราะผมเชื่อว่าเมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวก คนก็จะหันมาใช้ จักรยานมากขึ้น และนอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ทางชมรมฯ ยังมีเป้าหมายในการร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงนิเวศน์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์ เกี่ยวกับการหันมาปั่นจักรยานเพื่อช่วยกันลดโลกร้อน, กระทรวงคมนาคม ผลักดันเรื่องของการจอดแล้วจร, กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมให้มีหลักสูตรการขี่จักรยานอย่างปลอดภัยให้เด็กๆ ตั้งแต่ประถมไปจนถึงมัธยม และสร้างมหาวิทยาลัยจักรยาน เพื่อให้เกิดกระแสการใช้จักรยานในนักศึกษาเพราะถือเป็นตัวชี้นำทางสังคม สุดท้าย กระทรวงมหาดไทย เช่น อปท.,เทศบาล, อบต., อบจ. เป็นต้น เพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะให้มีการใช้จักรยานมากขึ้นนั่นเอง
“สถานการณ์การเดินในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับว่าแย่ลง เพราะทางเท้าไม่มีการปรับปรุง ทั้งหาบเร่แผงลอยที่กีดขวางทางเดินก็มากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามการใช้จักรยานกลับมีมากขึ้น และมีการเรียกร้องถึงการอำนวยความสะดวกมากขึ้น หลายหน่วยงานต่างตื่นตัว แต่ก็ยังไม่พอสำหรับคำว่าสะดวกและปลอดภัย ซึ่งในการเดินหน้าต่อครั้งนี้ทางสมาคมฯ ยินดีจะให้การส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันต่อไป”
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรอบความร่วมมือในครั้งนี้ด้วยว่า ในด้านความร่วมมือ ทางวิชาการจะพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม จักรยานและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ การประสานด้านการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำต่อคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตลอดจนคนพิการ และส่งเสริมอุตสาหกรรมตามแผนงานสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การเดินและจักรยาน รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่คนพิการด้วย
ปิดท้าย มีเสียงมาจากผู้ใช้วีลแชร์ “อาภาณี มิตรทอง”ศูนย์ญาณากร แหล่งเรียนรู้คนพิการ บอกว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีหากการพัฒนาครั้งนี้จะส่งผลต่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้วีลแชร์ เพราะการพัฒนาระบบอำนวยความขั้นพื้นฐานนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากจนเกินไป เช่น การปรับปรุงทางเท้าให้มีความปลอดภัยคือไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น ตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า หรือท่อประปาในทางเดินเท้า เป็นต้น
ซึ่งหากมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทั้งที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยแล้ว เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนที่อยากจะปั่นจักรยานหรือแม้แต่ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ ที่อยากจะออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมน่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูลกันอย่างอบอุ่นได้ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยปานมณี