สสส.– TDRI ชวนคนไทยสร้างชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.–TDRI ชวนคนไทยสร้างชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา บริโภคอย่างยั่งยืน ซื้อแค่พอกิน ใช้อย่างพอเพียง ช่วยชาติลดขยะอาหาร หลังพบคนไทยก่อขยะมูลฝอยประเภทอินทรีย์มากถึง 17.5 ล้านตัน หรือ 254 กิโลกรัม/คน/ปี หนุนรัฐสร้างแรงจูงใจภาคเอกชน แบ่งปันอาหารส่วนเกิน ลดหย่อนภาษี
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีแนวทางการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ในยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย
เนื่องจากขยะอาหารที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งต่อดิน น้ำ และอากาศ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีคู่มือถอดบทเรียนการทำงาน จากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักให้คนไทยสร้างชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา ด้วยการบริโภคแต่พอดี
“การส่งเสริมการบริโภคที่พอเพียงคือ พอเหมาะ พอดี พอควร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งชีวิตวิถีใหม่ที่เน้นความรอบคอบในการใช้จ่าย นอกจากนี้ สสส. อยู่ระหว่างการหารือกันภายในองค์กร เพื่อบูรณาการแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ และแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ เตรียมหาแนวทางการร่วมมือกับผู้ผลิตและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ นำอาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มประชากรเปราะบางที่ขาดแคลนอาหาร โดยอาหารที่จะถูกส่งต่อนั้นไม่ใช่อาหารที่หมดอายุแล้ว แต่เป็นอาหารสดที่ทำวันต่อวันหรืออาหารกระป๋อง
วิธีการดังกล่าวจะช่วยตัดวงจรอาหารส่วนเกิน ที่จะกลายเป็นขยะอาหารจำนวนมหาศาล และสอดคล้องวิกฤติ COVID-19 ที่สนับสนุนการนำอาหารส่วนเกิน ส่งไปยังประชาชนที่ขาดแคลนอาหาร ประเด็นสำคัญคือ สสส.ให้ความสำคัญกับตรรกะ เมื่อคนท้องอิ่ม คนจะใส่ใจกับสุขภาพตามมา” นายชาติวุฒิ กล่าว
นางสาวธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการประมาณการณ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลปริมาณอาหารที่ผลิตและปริมาณการทิ้งขยะอาหารที่ชัดเจน มีเพียงข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2560 มีปริมาณมากถึง 17.56 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่จัดเก็บโดยเทศบาลเท่านั้น ยังไม่รวมขยะอาหารหรือปริมาณอาหารส่วนเกินของภาคธุรกิจ ที่มีการจ้างบริษัทเอกชนบริหารจัดการ
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมีความกังวลว่าในช่วงโควิด-19 หลายคนอาจมีพฤติกรรมซื้ออาหารสดเก็บไว้ครั้งละมากๆ เพื่อเลี่ยงการออกไปสัมผัสกับผู้คนในที่แออัด แต่หากอาหารเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาบริโภคและเน่าเสียไป อาจเป็นการสร้างปริมาณขยะอาหารส่วนเกินมากขึ้น
“TDRI และ สสส. ขอเชิญชวนคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคใหม่ ด้วยการซื้ออาหารแต่พอดี บริโภคแต่พอดี กำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องและคัดแยกขยะอาหาร เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปกำจัด และขอสนับสนุนให้ภาคนโยบายส่งเสริมการแบ่งปันอาหาร โดยการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้กับองค์กรที่ส่งต่ออาหารส่วนเกิน เช่นที่เคยประสบความสำเร็จในหลายประเทศ และควรส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหรืออาหารสัตว์” นางสาวธารทิพย์ กล่าว
ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย ได้ทาง http://llln.me/39JDhZW หรือ www.thaihealth.or.th