สสส.เห็นชอบยุทธศาสตร์แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้มอบหมายให้นายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติหน้าที่ (แทน) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 2/2554
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.54 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 3401 อาคารรัฐสภา 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้มอบหมายให้นายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติหน้าที่ (แทน) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 2/2554 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์ของแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายต่อไป อย่างไรก็ตามให้ สสส. รับข้อสังเกตในที่ประชุมไปพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว และให้เน้นเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนงานที่หน่วยงานหลักยังไม่ได้มีการดำเนินการ เพื่อป้องกันการทำงานที่อาจจะซ้ำซ้อนกันได้
สำหรับยุทธศาสตร์แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นแผนที่ถูกปรับมาจากแผนเรียนรู้เพื่อสุขภาวะตามมติคณะกรรมการ สสส. โดยได้บรรจุไว้ในแผนหลัก สสส. ประจำปี 2552-2554 ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเพื่อหาช่องว่างหรือจุดค้านงัดสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยมียุทธศาสตร์หลักคือ เสริมสร้างและพัฒนางานวิชาการและนวัตกรรม สนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สร้างแกนนำและต้นแบบการเรียนรู้สุขภาวะแบบบูรณาการ รวมและประสานพลังภาคีเครือข่าย สู่สุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตลอดจนขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้สู่นโยบายสาธารณะ
ทั้งนี้การที่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สืบเนื่องจากปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนการสมรสที่ลดลง (ปี 2550 อัตราการหย่าร้างประมาณ 1 ใน 3 ของการจดทะเบียนสมรส) ส่งผลให้ครอบครัวเลี้ยงเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นหญิง
คาดว่าปัจจุบันมีครอบครัวเลี้ยงเดียวอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ ประมาณ 1.3 ล้านครอบครัว ขณะเดียวกันก็พบว่าเด็กปฐมวัย (แรกเกิด-5 ปี) มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากภาวะขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ ส่วนเด็กวัยเรียน (6-11ปี) พบความชุกภาวะโภชนาการเกินสูง (โรคอ้วน) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ในปี 2539-40 เป็นร้อยละ 6.7 ในปี 2544 รวมถึงยังพบว่าเด็กในวัยดังกล่าวมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำและผลสัมฤทธิ์ในการเรียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ขณะที่เด็กวัยรุ่น (12-25 ปี) จะพบมีปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม อาทิ มีอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นสูงขึ้น และมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ฯลฯ พฤติกรรมเล่นคอมพิวเตอร์และติดเกม ปัญหาการสูบยาและยาเสพติด ตลอดจนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เป็นต้น
ประกอบกับสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตจึงมีความจำเป็นที่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จะต้องได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสถานการณ์ดังกล่าวที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยยึดพันธกิจของ สสส. คือจุดประกาย กระตุ้น สนับสนุนภาคีวิชาการ ภาคีนโยบาย และภาคีปฏิบัติการ เพื่อพัฒนากระบวนการต้นแบบ และการขยายผลสำหรับการพัฒนากาย จิต สังคม และ ปัญญาในกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเน้นการมีส่วนร่วมและบูรณาการระหว่างองค์กรภาคีเพื่อพัฒนาสังคมสุขภาวะในระยะยาวต่อไป
ที่มา : กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก โดย วิไลวรรณ