สสส. เสริมศักยภาพแกนเยาวชน Gen Z Academy เน้นสร้างความเข้าใจในกฎหมาย
ที่มาและภาพประกอบจาก : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
สสส. หนุนภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตร “กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน” เสริมศักยภาพแกนเยาวชน Gen Z Academy เน้นสร้างความเข้าใจในกฎหมาย พร้อมเดินหน้าสู่การถ่ายทอดและปฏิบัติ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมพัฒนาหลักสูตรวิชาแกนหลัก “กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน” เพื่ออบรมแกนนำเยาวชน Gen Z Academy โดยใช้กระบวนการอบรมที่เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดสร้างสรรค์มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้เยาวชน Gen Z สามารถเชื่อมโยงความรู้เรื่องกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อ รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นการ Workshop ระดมสมอง ระดมความคิด เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนของตัวเอง
โดยมีการทดลองนำร่องหลักสูตรการอบรม กับแกนนำนักเรียน Gen Z จากโรงเรียน Node เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่จังหวัดขอนแก่น สังกัด สพม.ขอนแก่น จำนวน 16 แห่ง /อปท. และ อบจ.และ สพป.ขก.เขต 4 ขอนแก่น จำนวน 9 แห่ง รวม 75 คน โดยมีนายอาทิตย์ ธำรงชัยชนะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น เป็นประธานเปิดการอบรม เมื่อวันที่ 28-29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
น.ส.ชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรวิชาแกนหลัก “กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน” มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมพัฒนาศักยภาพของแกนนำเยาวชน Gen Z ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในประเด็นกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนและสามารถนำไปใช้ สื่อสารและเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเพื่อน ๆ ในชมรม Gen Z ตลอดจนเรียนรู้ถึงหลักการเฝ้าระวัง แนวทาง และวิธีการ ส่งต่อข้อมูลการละเมิดให้หน่วยบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ ภายใต้บริบทของ Gen Z ได้ ขณะเดียวกัน น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะมีการเตรียมแผนการดำเนินงาน Gen Z ขอนแก่น โดยระดมความคิดเห็นเพื่อวางแผนการเชื่อมกิจกรรมในพื้นที่และชุมชน ตลอดจนกิจกรรมสร้างกระแสทั้ง onsite และ online ในประเด็นนิโคติน ในบุหรี่ไฟฟ้า ทำลายสมอง ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
“การจะช่วยปกป้องนักสูบหน้าใหม่ นอกจากจะให้ความรู้ ความเข้าใจกับแกนนำเด็กและเยาวชนแล้ว ยังต้องเปิดโอกาสให้ตัวแทนเด็กและเยาวชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันตัวเอง เพื่อน ๆ พี่น้อง ผ่านกระบวนการอบรมและรับการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ เพื่อการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และส่งความรู้ต่อไปในกลุ่มสถานศึกษา ชุมชน และสังคมต่อไป” น.ส.ชวาลา กล่าวย้ำ
นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย รองผู้อำนวยการ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กองงานฯ ได้มีการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในทุกมิติ โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญ คือ การพัฒนาเยาวชนให้ตระหนักและเข้าใจเกี่ยวปัญหาและพิษภัยของบุหรี่ ภายใต้กิจกรรม “การพัฒนาศักยภาพเยาวชน GEN Z” ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการป้องกันนักสูบหน้าใหม่และเฝ้าระวังกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทัน และเป็นแกนนำไปเชิญชวนเพื่อนเยาวชนให้อยู่ห่างไกลสิ่งเหล่านี้ได้
ขณะเดียวกัน กองงานฯ ยังสนับสนุนด้านเนื้อหาวิชาการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เป็นการเรียนรู้เรื่องกฎหมาย โดยได้พยายามนำองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอไม่ให้น่าเบื่อสำหรับเด็กและเยาวชน สร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning มากขึ้น เพื่อให้น้อง ๆ แกนนำ ได้ร่วมกันคิดว่าจะไปเฝ้าระวังได้อย่างไร พร้อมนำกรณีศึกษาต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เกมส์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เพื่อสร้างเข้าใจและสามารถนำไปขยายผลในโรงเรียนต่อได้
นายจิระวัฒน์ คาดหวังว่า แกนนำเยาวชนที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้ จะมีความรู้และเข้าใจองค์ประกอบของกฎหมาย สามารถส่งต่อความรู้และดึงเพื่อน ๆ เยาวชน ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมและเป็นสายสืบ (GenZ Spy) ช่วยติดตามเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่ยังทำผิดกฎมายควบคุมยาสูบต่อไป
“เราพบว่า ผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายส่วนใหญ่ เมื่อเด็กเข้าไปพูดคุย ทางร้านจะเกรงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากน้อง ๆ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร Gen Z จนสามารถลงพื้นที่เพื่อไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายให้กับผู้ประกอบการได้” นายจิระวัฒน์ กล่าวย้ำ
น้องกิฟท์ สิริยากร ศรีจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา หนึ่งในตัวแทนเยาวชนที่เข้าอบรม กล่าวว่า มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพราะอาจารย์ที่โรงเรียนประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักเรียนมาร่วมอบรม และโดยส่วนตัวเคยเข้าร่วมอบรมมาแล้ว ทำให้ตัดสินใจเข้ามาร่วมเพื่อรับความรู้ที่ถูกต้องและนำไปปรับใช้กับเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ได้
“เด็กยุคนี้รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่มวนว่ามีโทษอย่างไร จากการค้นหาข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหลายคนยังเข้าใจว่าไม่มีโทษ ไม่อันตราย ไม่เป็นมะเร็ง แค่ทำให้ปอดชื้น” น้องกิฟท์ อธิบาย
น้องกิฟท์ เล่าว่า การจะเข้ามาเพื่อชวนให้เพื่อน ๆ หรือ น้อง ๆ เลิกบุหรี่ได้ บางครั้งอาจต้องเป็นที่มีประสบการณ์ตรงมาก่อน อย่างเช่นตนเองก็เคยสูบบุหรี่มาก่อน ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเกิดความอยากลอง คิดว่าสูบเท่ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือร่างกายทรุดโทรม ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดภาวะติดนิโคติน จนสั่นและมีความต้องการบุหรี่ตลอดเวลา ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกด้วยการหักดิบ เพราะมีภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ด้วยความตั้งใจอย่างจริงจังทำให้เลิกได้ในที่สุด และบอกกับตัวเองว่าจะไม่กลับไปสูบบุหรี่อีก
“อยากบอกน้อง ๆ ที่คิดว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่ติดว่าเรื่องนี้ไม่จริง เพราะในบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเหลว เมื่อเริ่มสูบก็จะติดในที่สุด และการสูบบุหรี่ไม่ได้เท่อย่างที่ทุกคนคิด อยากให้คิดถึงตัวเอง คิดถึงครอบครัวให้มาก ๆ” น้องกิฟท์ กล่าว