สสส. เพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ผ่าน “วิทยุสีขาว”
สสส. เพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ “วิทยุสีขาว” ดึงวิทยุชุมชน 200 สถานี ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ สร้างสรรค์สังคม อย่างน้อยวันละ 60 นาที พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้เครือข่ายวิทยุฯ นำร่อง กว่า 50 สถานี หนุนเด็ก – เยาวชน ผลิตรายการวิทยุรองรับ “ดิจิตอล เรดิโอ” ชี้ช่วยสร้างจินตนาการ – สื่อกลางของครอบครัว
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดงานสัมมนาเครือข่ายวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว“ก้าวสำคัญ ร่วมสร้างสรรค์อนาคตวิทยุเพื่อเด็กไทย” เพื่อร่วมผลักดันและพัฒนาหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่รายการวิทยุเพื่อเด็กและครอบครัวอย่างยั่งยืนพร้อมทำความเข้าใจประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2556 ทั้งนี้ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้มอบประกาศนียบัตรให้เครือข่ายวิทยุฯ จำนวนกว่า 50 สถานีด้วย
โดย รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า จากการทำงานสื่อสร้างสรรค์ของสสส.พบว่า ในพื้นที่ห่างไกลที่ยังเข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต สื่อวิทยุถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้และกระตุ้นจินตนาการ รวมถึงเป็นสื่อกลางของครอบครัว สร้างการมีส่วนร่วม เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรรมใดก็สามารถเปิดวิทยุฟังได้ โดยเมื่อปี 2552 สสส.ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ในการจัดตั้งคลื่นวิทยุสีขาวต้นแบบ ที่คลื่น FM105 ที่มีเนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีคลื่นวิทยุเฉพาะสำหรับเด็ก แม้จะมีคลื่นวิทยุหลักถึง 500 กว่าสถานี แต่ส่วนใหญ่เป็นคลื่นของราชการหรือพาณิชย์ ซึ่งเน้นผลกำไรหรือตอบสนองเป้าหมายของหน่วยงานมากกว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของเด็ก
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า ในปี 2554 ได้มีการเชื่อมโยงสัญญาณในบางช่วงเวลาไปยังคลื่นวิทยุชุมชน เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงวิทยุที่มีเนื้อหาดีๆ มากขึ้น ปัจจุบันมีการพัฒนาเครือข่ายวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว มีสมาชิกมากกว่า 200 สถานี เป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายการวิทยุนำเสนอเรื่องราวของเด็กในท้องถิ่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2556 กำหนดให้ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทั้งประเภทบริการสาธารณะ ประเภทกิจการบริการชุมชน และประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ต้องจัดให้มีรายการที่มีรายการเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม หรือรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อย่างน้อยวันละ 60นาที ในช่วงเวลาที่กำหนด คือ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-18.00 น.และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 7.00-9.00 น.
“ในอนาคต กสทช.ยังจะดำเนินการในเรื่องของ “ดิจิตอล เรดิโอ” ซึ่งสามารถฟังผ่านเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย การทำงานเรื่องสื่อวิทยุจึงไม่ได้ติดขัดที่เทคโนโลยี แต่จะทำอย่างไรให้เนื้อหามีความสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกับผู้ผลิตรายการวิทยุให้ดึงเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตรายการวิทยุ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่าการผลิตรายการโทรทัศน์เพราะใช้ทุนน้อยมาก” รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว
นายวันชัย บุญประชา เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กมีหลากหลายโดยพ่อแม่เป็นหัวใจ สื่อเป็นตัวช่วยหนุนเสริม การมีสื่อที่หลากหลายทำให้เด็กและพ่อแม่เข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าได้รับสื่อดี เนื้อหาสาระเหมาะสม รูปแบบการนำเสนอน่าสนใจจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ดี สร้างเสริมให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีโอกาสสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ได้ดี ซึ่งในส่วนของสื่อวิทยุจะช่วยสร้างจินตนาการที่ดีให้กับเด็ก เพราะวิทยุเป็นสื่อที่ใช้ฟังเสียง ผู้ฟังสามารถนึกภาพและจินตนาการสิ่งที่ฟังได้ดีกว่าสื่อโทรทัศน์ที่บอกทุกอย่างให้กับผู้ชมทั้งหมดแล้ว แต่ทั่วประเทศคลื่นวิทยุดีเพื่อเด็กและครอบครัวแทบไม่มีเลยมีเพียงสถานีเดียวคือ FM 105 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสื่อสนุกเพื่อเด็กหลากหลายมาก โดยเฉพาะสื่อภาพเคลื่อนไหวทั้งเกม แท็บเล็ต โทรทัศน์ซึ่งทำให้เด็กติดได้ง่าย พ่อแม่จึงควรให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กจะเลือกสื่อที่ชอบเอง บางคนอาจจะชอบออกไปเล่นนอกบ้าน บางคนชอบอ่านหนังสือ หรือบางคนชอบฟังวิทยุ เป็นต้น
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข