สสส.เตรียมความพร้อมรับมือเปิดอาเซียน เน้นคุมอาหารไร้ประโยชน์

 

แผนงานวิจัยนโยบายอาหารฯ สสส. เตรียมความพร้อมรับมือเปิดอาเซียน นักวิชาการเคมบริช ชี้ประสบการณ์คนอ้วนล้นเมือง ประชากร 2 ใน 3 เป็นโรคอ้วน แถม 1 ใน 4 ยังป่วยเบาหวาน เตือนประเทศกำลังพัฒนาเป็นเป้าหมายของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร แนะอาเซียนควรเร่งออกมาตรฐานกลางร่วมกัน เน้นคุมอาหารไร้ประโยชน์ ทั้งน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ โซเดียมสูง


 

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ  กล่าวในงานประชุมประจำปีครั้งที่ 1 เรื่อง “การจัดการปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ประเทศไทยพร้อมหรือยัง” จัดโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโภชนาการอย่างรวดเร็ว คนไทยนิยมบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าข้าว รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลและเกลือสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกิน เกิดโรคอ้วนจำนวนมาก การเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 นั้น จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ เพื่อให้มีการจัดการปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในด้านโภชนาการร่วมกัน การประชุมนี้จึงถือเป็นการเชื่อมภาครัฐ องค์กรอิสระ ธุรกิจ และวิชาการ เพื่อหารือแนวทางรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ดร.เดวิท สตัคเลอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคมบริช ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาโภชนาการเกินพบว่า ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีมาตรการป้องกันสุขภาพของประชาชน  ประชากรวัยผู้ใหญ่ 2 ใน 3 อ้วนและป่วยด้วยโรคเบาหวาน และ 1 ใน 4 ตายก่อนวัย 65 ปี เนื่องจากสาเหตุทุพโภชนาการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขทั้งระบบ โดยประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากบทเรียนที่ผิดพลาดนั้นได้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งจะต้องพบความท้าทายจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างมาก โดยเปรียบเทียบได้กับการอุตสาหกรรมบุหรี่ที่มักใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อขยายตลาด เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาถือเป็นตลาดที่สำคัญในการขยายตลาดที่สำคัญ

“การวิจัยทำให้พบว่า ประเทศใดที่มีประชากรสูบบุหรี่มากก็จะพบประชากรดื่มเหล้ามาก และประเทศใดมีประชากรดื่มน้ำอัดลมมาก ก็จะพบประชากรอ้วนมากขึ้น  ซึ่งการเปิดการค้าเสรีจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคได้ด้วย เช่น พบว่าประเทศเม็กซิโก ดื่มน้ำอัดลม 250 ลิตรต่อคนต่อปี และมีอัตราการดื่มรองจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเปิดการค้าเสรีพบการดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 40-50 ทำให้มีอัตราเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นต้น ดังนั้นการวางแผนนโยบายเพื่อป้องกันเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ”ดร.เดวิท กล่าว

รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถานบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเปิด AEC ควรมีมาตรการป้องกันร่วมกันในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และสร้างมาตรฐานโภชนาการเหมาะสมร่วมกัน จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลทางอาหารในประเทศอาเซียน เช่น สร้างค่ามาตรฐานไอโอดีน ค่าโซเดียม ค่าไขมันอิ่มตัว เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศมีค่าโภชนาการนาอหารแต่ละประเภทอย่างไร แม้ว่าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) จากประเทศที่สูงและต่ำที่สุดถึง 50 เท่า แต่มีแนวโน้มของประชากรคล้ายกันคือ ประชากรสูงอายุมากขึ้น ประชากรวัยแรงงานต่ำลง จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและทำให้เกิดความเข้มแข็งในการรวมตัวเพื่อสร้างการต่อรอง

“ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลงเป็นแนวโน้มเดียวกับประเทศต่างๆในโลกที่ถูกกระแสทุนนิยมเข้ามาแทนที่ จากการกินอาหารไทยซึ่งมีความสมดุลทางโภชนาการ เป็นการกินอาหารทอด หวาน มัน เค็ม เพิ่มขึ้น ดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ จำนวนมาก ประกอบการการมีกิจกรรมทางกายลดลงทำให้เกิดปัญหาโภชนาการเกิน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบางประเทศเริ่มเก็บภาษีตามคุณค่าของอาหาร เช่น หากมีเกลือ ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล มากกว่าค่ามาตรฐานก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการจำกัดอัตรา
โภชนาการเกินอีกทาง”ร.ศ.ดร.วิสิฐ กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code