สสส.เดินเครื่องตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อม สุขภาพพื้นที่มาบตาพุด
เตรียมวางแผนป้องกันแก้ไขร่วมกัน
สสส. ร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการ MOU เพื่อศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพในพื้นที่จ.ระยอง เพื่อรวมรวมข้อมูลจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศของจ.ระยอง และเปิดกว้างให้ทุกหน่วยงาน ประชาชนทั่วไป สามารถสืบค้นข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางนโยบายการพัฒนาต่อไป
ครั้งแรกของไทย สถาบันการศึกษา จับมือ ท้องถิ่น ภาคประชาชน เดินเครื่องตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อม สุขภาพพื้นที่มาบตาพุด เชื่อการมีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ครอบคลุมรอบด้าน จะนำไปสู่ความไว้ใจ เรียนรู้ และเดินหน้าวางแผน ป้องกันและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ชี้เป็นบทเรียนคนไทย นำไปปรับใช้ดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งประเทศได้
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานในพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่มาบตาพุด” กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เพื่อร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัยทางวิชาการ ร่วมกับภาคประชาชน ร่วมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมาบตาพุดและพื้นที่โดยรอบ และจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคประชาชน เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลของมาบตาพุดที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาค้นหาหรือใช้ประโยชน์ได้
“มาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ควรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ ปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบให้แก่ชุมชน ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ เชื่อว่าการลงนามครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อรุณี อินทรไพโรจน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลต่างๆในพื้นที่มาบตาพุดไม่มีหน่วยงานกลางที่ดูแลและรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ไม่เกิดประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์เบื้องต้นการทำงานภายใต้ข้อตกลงนี้ จะเน้นหนักที่การรวบรวมผลการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่มาบตาพุด ทั้งลักษณะกายภาพของชุมชน ลักษณะอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ภายหลังการรวบรวมผลการศึกษาต่างๆ จัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศของมาบตาพุด และบรรจุข้อมูลอยู่ในแผนที่ดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งและเฝ้าระวังระดับปัญหา ที่จะกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่มีหลายภาคส่วนร่วมกันทำงาน ทั้งนี้ จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยความระมัดระวังโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยมีหลักการคือ ถือความถูกต้องเป็นหลัก
รศ.ดร.เลอสรวง เมฆสุต ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มาบตาพุด ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชน ภาครัฐ นักวิชาการ และภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่เพื่อจัดการปัญหา ให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับ จึงมีการเสนอการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า
“การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment : SEA) เป็นการทำงานครอบคลุมทุกด้านทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม หาความสมดุลเพื่อนำไปสู่การวางแผน การตัดสินใจ โดยจะต้องใช้ข้อมูลที่แท้จริงที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ และผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จนกลายเป็นข้อมูลชุดเดียวที่สังคมยอมรับ ไม่ว่าจะทำโครงการใดๆ ก็จะได้รับการยอมรับและเดินหน้าร่วมกันได้
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ประชาชนมาบตาพุด ไม่ได้มีปัญหากับการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่มีปัญหากับการรุกรานสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมข้ามชาติที่ละเลยการใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพื่อนำไปสู่การวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ถือเป็นสิ่งที่สามารถขจัดปัญหาความไม่เชื่อใจกันและกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการมีข้อมูลสารสนเทศที่ไม่ครบถ้วน หากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน เช่น ปริมาณมลพิษในอากาศ ระดับความเป็นพิษของน้ำ และสามารถเชื่อมโยงได้ว่าจะทำให้เกิดผลใดขึ้น จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความยอมรับและพร้อมที่จะแก้ปัญหาด้วยกัน
“การทำงานจะไม่ใช้วิธีเพ่งเล็งหาคนผิด แต่เป็นการเฝ้าระวังและหาความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของไส้เดือนที่บ่อขยะ หอย ปลาในทะเล กบ คางคง ที่แสดงให้เห็นสารพิษใกล้ชุมชน หรือพืชบางอย่างก็สามารถชี้วัดได้ ซึ่งพื้นที่มาบตาพุด ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้จังหวัดอื่นๆ ได้เรียนรู้ถึงการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ต่างๆได้ทั่วประเทศ”รศ.ดร.เรณู กล่าว
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update:06-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่