สสส.เดินหน้าสร้างเครือข่ายชุมชนน่าอยู่
สสส. เดินหน้าหนุนชุมชนท้องถิ่น สร้างเครือข่ายชุมชนน่าอยู่ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งกันทั้งแก้สารพัดปัญหา “เหล้า-บุหรี่-การเกษตร” ปลื้ม 3 ปี ภาคอีสาน 20 จังหวัด เข้าร่วม 362 โครงการ เร่งขยายโอกาสให้พื้นที่ห่างไกลมากขึ้น
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ รร.ทองธารินทร์ จ.สุรินทร์ ในงานมหกรรม “ฮักแพง แบ่งปัน อีสานสร้างสุข”ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับความเข้มแข็งให้กับชุมชนและท้องถิ่น เพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นสร้างเครือข่ายการพึ่งตนเอง สร้างสังคมเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกัน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศ เป็นภาคที่มีประชากรมากที่สุด ชาวอีสานต้องประสบกับปัญหาหลายด้าน ทั้งความแห้งแล้ง ความยากจน การย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองใหญ่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายด้าน สสส. จึงร่วมกับหลากหลายภาคีในภาคอีสานสร้าง “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ ภาคอีสาน” เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสในการจัดการปัญหาในชุมชนด้วยตนเอง ยกระดับคุณภาพชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ ด้วยกลไก 8 ก.
“กลไก 8 ก. ประกอบด้วย 1.แกนนำ เป็นกลไกหลักในการรับผิดชอบและขับเคลื่อนงาน 2.กัลยาณมิตร คือมีภาคีเครือข่ายร่วมแรงร่วมใจสนับสนุน 3.กองทุน มีการระดมทรัพยากรเพื่อใช้ขับเคลื่อนงาน 4.การจัดการ โดยแบ่งหน้าที่/โครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน 5.การเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน 6.การสื่อสาร เพื่อสร้างความรับรู้และความตื่นตัวทั่วทั้วชุมชน 7.กระบวนการพัฒนา เสริมศักยภาพคนในชุมชน และ 8.กฎกติกา เพื่อเป็นแนวทาง ข้อปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2555ถึงปัจจุบัน สสส.ได้สนับสนุนทุนดำเนินงาน 362 โครงการ ใน 20 จังหวัด พบว่าประสบความสำเร็จอย่างดีและจะขยายโอกาส ให้หมู่บ้านห่างไกลในพื้นที่ภาคอีสานสามารถเข้าถึงการสนับสนุนทุนทำงานมากยิ่งขึ้นต่อไป” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน หัวหน้าโครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า กระบวนการยกระดับชุมชนเน้นพัฒนาชุมชนให้เกิดแกนนำ และการมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสำคัญและสร้างความน่าอยู่ให้แก่ชุมชน แต่ที่ผ่านมายังเป็นการยกระดับเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เช่น ชุมชนน่าอยู่ปลอดเหล้า ชุมชนน่าอยู่ปลอดบุหรี่ ชุมชนน่าอยู่เกษตรอินทรีย์ แต่ชุมชนยังมีอีกหลายประเด็นปัญหา จึงควรยกระดับให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในเชิงกลไก เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะแกนนำ หรือทีมงาน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน ร่วมกันคิดและวางแผน โดยกำหนดเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ทุกคนอยากทำงานร่วมกัน ไม่เช่นนั้นการยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งจะเป็นเรื่องยาก
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน สสส. กล่าวว่า หลังจากลงติดตามพื้นที่ทำงานในชุมชนต่างๆ ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะโครงการที่ สสส.สนับสนุน ได้ช่วยให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัว และมองปัญหาของชุมชนเป็นเรื่องของตนเองมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เช่น การตั้งสภาชุมชนวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนการทำงาน การลดต้นทุนการผลิตการเกษตรด้วยปุ๋ยน้ำหมักทำเอง การจัดการขยะด้วยการคัดแยก รีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกต้อง ช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น โดยไม่ต้องรอให้คนภายนอกมาช่วยแก้ไข ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่ายได้มากกว่า 1,000 ชุมชน ซึ่งหากชุมชนใดสามารถพัฒนารูปแบบการทำงานกระทั่งได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนก็จะผลักดันให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้มีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น และเพื่อยกระดับให้ชุมชนทั้งประเทศเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และน่าอยู่ต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข