สสส. – เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เปิดตัว “สมาคมการเล่นนานาชาติ ประเทศไทย” แห่งที่ 19 ของโลก สร้างโอกาสเล่นอิสระ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
น่าห่วง ! วิกฤตภัยธรรมชาติ-ฝีมือมนุษย์ ทั่วโลก ทำสุขภาวะเด็กพัง สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เปิดตัว “สมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย” แห่งที่ 19 ของโลก เชื่อมโยงการทำงานส่งเสริมการเล่นทั้งใน-นอกประเทศ พัฒนาหลักสูตร พร้อมยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพ Play worker เดินหน้าขยายผล ชวน ศพด. กว่า 17,000 แห่ง สร้างโอกาสเล่นอิสระ พาเด็กก้าวข้ามทุกวิกฤต
เวลา 13.00 น. วันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จัดงานประชุม International Play Association (IPA) Thailand Panel Discussion “เล่น ฟื้น คืน พลัง – พาเด็กก้าวข้ามวิกฤต : Play More, Play Now” พร้อมเปิดตัวสมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย (International Play Association Thailand : IPA Thailand) เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเล่นอิสระระหว่างนานาชาติและประเทศไทย สร้างโอกาสการเล่นให้กับเด็กทุกคน
น.ส.ประสพสุข โบราณมูล และนายพงศ์ปณต ดีคง ผู้แทนสมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย (IPA Thailand) กล่าวว่า IPA Thailand เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เกิดขึ้นจากการผลักดันของ สสส. และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมการเล่นอิสระ มีเป้าหมายสำคัญคือ การส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสในการเล่นอิสระ ผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างศักยภาพผู้เกี่ยวข้องให้มีความสามารถในการสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นอิสระ 2.ปลุกพลังครอบครัว และชุมชนในการส่งเสริมการเล่นอิสระ 3.สื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการส่งเสริมการเล่นอิสระ และสิทธิในการเข้าถึงโอกาสการเล่น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 เรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กผ่านการเล่น ทั้งนี้ IPA Thailand จะเดินหน้าเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเล่นอิสระระหว่างนานาชาติและไทย ส่งเสริมงานด้านผู้อำนวยการเล่น (Play worker) ให้มีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น และรวมพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนสื่อสารขับเคลื่อนสร้างโอกาสการเล่นให้กับเด็กทุกคน
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. มีส่วนร่วมผลักดันให้เกิด IPA Thailand เป็นสาขาที่ 19 ของโลก มีหมุดหมายสำคัญ คือการสานพลังภาคีร่วมผลักดันให้เกิดหลักสูตรและมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้อำนวยการเล่น หรือ Play worker ผู้ที่จะทำให้เด็กได้เข้าถึงโอกาสการเล่นอย่างแท้จริง ผ่านการถอดบทเรียนและวิธีการในระดับสากลควบคู่บทเรียนจากพื้นที่ปฏิบัติทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้บุคลากรท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. และเทศบาล ซึ่งมีบุคลากรมากกว่า 7,000 คน มีทักษะผู้อำนวยการเล่น เพื่อสนับสนุนเด็กในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนขับเคลื่อนให้มีลานเล่นอิสระในชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างให้ครูหรือผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็ก (ศพด.) กว่า 17,000 แห่ง มีความรู้และทักษะ Play worker เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมต่อไป
“สสส. ร่วมกับภาคีที่ดำเนินการงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ขับเคลื่อนงานส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายวันละไม่น้อยกว่า 60 นาที และสนับสนุนให้เกิดการเล่นอิสระอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรูปแบบการเล่นที่ทำได้ง่ายและเป็นพื้นฐานของการสร้างพัฒนาการทุกด้านในตัวเด็ก ยกตัวอย่างเช่น โครงการเล่นอิสระที่ จ.หนองบัวลำภู ที่ใช้การเล่นในการเยียวยาเด็กและครอบครัวที่ได้รับความรุนแรงจากเหตุการณ์ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง พบว่า เด็กและผู้ใหญ่เครียดน้อยลง หลับดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น จากรายงานผลการดำเนินงานการทำงานส่งเสริมการเล่นอิสระ ปี 2565-2566 โดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก พบเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษามีความสุขเพิ่มขึ้น มีพัฒนาการตามวัย มีทักษะชีวิต และลดเวลาการใช้หน้าจอ 21,000 คน” น.ส.ณัฐยา กล่าว
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า สมาคมการเล่นนานาชาติ หรือ International Play Association : IPA World ได้นิยามวิกฤต มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.วิกฤตที่เกิดจากธรรมชาติ 2.วิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ 3.วิกฤตที่ซับซ้อนเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีหลายระดับ จากรายงานวิจัยเรื่อง Access to Play for Children in Situations of Crisis : Synthesis of Research in Six Countries ปี 2560 โดย IPA World พบว่า การช่วยเหลือเด็กในสภาวะวิกฤตต่างๆ จะเน้นไปที่การช่วยเหลือโดยการสนับสนุนอาหาร ที่อยู่อาศัย แต่ “การเล่น” ไม่ได้ถูกให้การสนับสนุนมากนัก ในปี 2563 IPA World จึงสร้างแนวคิด IPA Play in Crisis Support for Parents and Carers ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเล่นในภาวะวิกฤตให้กับผู้ปกครองหรือผู้ที่ใกล้ชิดเด็ก ซึ่งสำคัญไม่แพ้กับการสนับสนุนอาหารหรือที่อยู่อาศัย
“ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานผลักดันการเล่นเพื่อบำบัดในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากผลสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี 503,884 ราย โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 2565 – 14 ต.ค. 2567 พบเด็กเสี่ยงทำร้ายตนเอง 87,718 ราย คิดเป็น 17.4% เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 51,789 ราย หรือ 10.28% การเล่นเพื่อบำบัด จึงเป็นแนวทางที่ควรจะศึกษาและผลักดันต่อไป เพราะจะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กและความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือระหว่างบุคคลอีกด้วย” น.ส.เข็มพร กล่าว
น.ส.ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กถูกกักตัวไม่ได้ออกจากบ้าน ไม่เข้าใจสถานการณ์ ต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือตลอดทั้งวัน ทั้งยังต้องเผชิญกับสภาวะอารมณ์เครียด เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย มยพ. จึงต้องสนับสนุนของเล่นไปให้เด็กๆ ถึงหน้าบ้าน รวมถึงการทำกล่องของเล่นยืมคืน และทำความเข้าใจเรื่องการเป็น Play worker ให้ผู้ปกครองสามารถอำนวยการเล่นกับลูกได้ ทำให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ลดการติดหน้าจอ นอกจากนี้ จากสถานการณ์ความรุนแรงกรณีเหตุกราดยิงที่โคราช มยพ. ได้ร่วมกับ สสส. และภาคี จัดเทศกาลกลางเมือง เปิดพื้นที่เล่นอิสระให้เด็กและผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกัน เยียวยาจิตใจ รวมถึงเหตุความรุนแรงกับเด็กเล็กหนองบัวลำภูใช้เล่นอิสระ ฟื้นฟูความสุข ช่วยให้เด็กได้กลับสู่ภาวะปกติ มีสภาพจิตใจที่พร้อมใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข การดำเนินงานที่ผ่านมาจึงสะท้อนให้เห็นว่า “การเล่น” สามารถทำให้เด็กก้าวข้ามความรุนแรงและวิกฤตที่เจอได้จริง รวมถึงยังส่งผลดีต่อครอบครัวและชุมชนด้วย