สสส. หนุน สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยประกาศขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียน
ที่มา : โครงการ สภาการศึกษาคาทอลิกไทยร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันควบคุมบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย
รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่ปรึกษาสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ขับเคลื่อนงานเรื่องการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนเครือคาทอลิก ร่วมกับสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยชักชวนให้สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ที่ดูแลโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทย เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ถือเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนอย่างมากในขณะนี้ จึงอยากให้สภาการศึกษาคาทอลิกฯ เข้าร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมีโรงเรียนในเครือที่มีชื่อเสียงและผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก ซึ่งจากการเข้าไปพูดคุยหารือ พร้อมนำข้อมูลผลกระทบจากการที่เด็กติดบุหรี่ จนเข้าไปสู่การลองบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างไรบ้าง และในฐานะโรงเรียนจะต้องทำอย่างไร ก็ได้รับการตอบรับที่ดีทุกฝ่าย ในการเห็นปัญหาร่วมกัน โดยในปีนี้ศาสนจักรคาทอลิก เน้นประเด็นการก้าวไปด้วยกันเพื่อเปลี่ยนสังคมที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นตรงกันว่าหากจะก้าวไปด้วยกัน ต้องก้าวร่วมกับสังคมด้วย จนนำมาสู่การพัฒนาแผนร่วมกัน จนเกิดโครงการ “สภาการศึกษาคาทอลิกไทยร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันควบคุมบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย” เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการดำเนินงานตามเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันต่อสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนในเครือข่าย
“เราเข้าไปก็คาดหวังว่า การที่โรงเรียนเครือคาทอลิก มีสถานศึกษาที่ค่อนข้างมีอิทธิพลของสังคมไทย และเด็กที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ จึงมีโอกาสเสี่ยงในการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า ดังนั้นหากเราสามารถเข้าไปสกัดกั้นเด็กเหล่านี้ได้ แล้วให้โรงเรียนเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวออกสู่สังคม ว่าได้มีส่วนร่วมในการป้องกันเด็กเหล่านี้อย่างไร จะเป็นสิ่งที่หนุนเสริมให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศ ที่บางส่วนอาจจบจากโรงเรียนเหล่านี้ได้ตระหนักว่าจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น” รศ.ดร.มณฑา กล่าว
รศ.ดร.มณฑา กล่าวด้วยว่า สถานศึกษาทุกแห่ง มีตัวชี้วัดสำคัญที่ดำเนินการอยู่แล้ว คือการสร้างสถานศึกษาปลอดยาเสพติด ซึ่งแต่ละโรงเรียนได้ทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สอดแทรกในบทเรียนแต่เป็นการทำแบบต่างคนต่างทำ และไม่ได้สื่อสารส่งเสียงออกมาสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการรับรู้ ดังนั้นหากโรงเรียนในเครือทำร่วมกันก็จะเกิดพลังที่แสดงถึงการใส่ใจปัญหาสังคม ทั้งนี้ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งยอมรับว่าขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามอย่างมากและยังหาทางออกในการสื่อสารกับเด็กไม่ได้ ดังนั้นการเดินหน้าในเรื่องนี้ร่วมกัน จะเป็นการหารูปแบบในการสื่อสารให้เด็กเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าและไม่ต่อต้าน
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้จัดการสัมมนา “ก้าวไปด้วยกันเพื่ออนาคตการศึกษาคาทอลิกไทยที่ดีกว่าเดิม” มีผู้บริหารสถานศึกษากว่า 170 แห่ง และผู้เข้าร่วมเกือบ 500 คน โดยมีกิจกรรมให้ความรู้ จัดบูธ แจกสื่อ รับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และถ้อยแถลงอันเนื่องมาจากการประชุมสัมมนาประจำปี 2566
รศ.ดร.มณฑา กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการคิกออฟในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการครบ 160 แห่งแล้ว หลังจากนี้จะเตรียมการเก็บข้อมูลของเด็กในโรงเรียน เพื่อให้เข้าใจปัญหา พร้อมออกแบบกิจกรรมเสริมให้โรงเรียนต่าง ๆ และทุก 2 เดือนจะมีสื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะเดินหน้าจัดประชุมโรงเรียนนำร่อง 20 แห่ง เพื่อเดินหน้ากิจกรรมต่อไป
ขณะที่ อาร์ชบิชอปอันตน วีระเดช ใจเสรี ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง และประธานสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนา “ก้าวไปด้วยกันเพื่ออนาคตการศึกษาคาทอลิกไทยที่ดีกว่าเดิม” ว่า สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ยืนยันในเจตนารมณ์การพัฒนาการศึกษาด้วยความรักและความหวังให้แก่เด็กเยาวชนไทย โดยขอให้โรงเรียนคาทอลิกฟังเสียงเรียกร้องของสังคมด้วยหัวใจ เปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง เห็นคุณค่าในชีวิต การสร้างให้เด็กเติบโตควบคู่ไปกับคุณธรรมแห่งศาสนาและการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ต้องก้าวไปด้วยกันอย่างกล้าหาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการณ์ปัจจุบันที่เด็กและเยาวชนถูกคุกคามจากการล่อลวงของบุหรี่ไฟฟ้า โรงเรียนคาทอลิกต้องช่วยกันดูแลปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง และพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจและจิตวิญญาณด้วยจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร และสร้างสันติสุขในสังคมไทย
บาทหลวงเอกรัตน์ หอมประทุม เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรงเรียนคาทอลิกพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งสภาการศึกษาคาทอลิกฯ ได้ร่วมมือกับฝ่ายสังคม (คาริตัสไทยแลนด์) ของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในการริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนและโรงเรียน ตระหนักถึงการคุกคามของบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาสู่เด็ก พยายามที่จะทำความเข้าใจเพื่อสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดประสิทธิผลในการปกป้องเด็กและเยาวชน พร้อมย้ำว่าโรงเรียนคาทอลิกให้ความสำคัญกับการรู้เท่ากันการเปลี่ยนแปลง และจะรณรงค์ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง จัดการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเยาวชน รวมไปถึงครอบครัว โรงเรียนคาทอลิกพร้อมที่จะก้าวไปด้วยกันและกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเด็กเยาวชน โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ประกาศจุดยืนต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย ในงานเสวนาวิชาการ “ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและครูต่อนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า” ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและเร่งบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปกป้องบุตรหลานของเราจากบุหรี่ไฟฟ้า
ด้านบาทหลวงไพรัช ศรีประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายสังคม (คาริตัสไทยแลนด์) สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฯ กล่าวว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาสังคมที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชน แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว ชุมชนสังคม และสิ่งที่น่าวิตกคือ การเริ่มลองบุหรี่ไฟฟ้าอาจนำไปสู่การเสพติดอื่นๆ ที่เป็นอันตรายร้ายแรงกว่า จึงถือเป็นภารกิจของศาสนจักรคาทอลิกในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และการดำเนินการอย่างรอบด้านเพื่อปกป้องเด็กเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและคุณภาพในการจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนไทย การที่โรงเรียนคาทอลิกให้ความสำคัญกับปัญหาของเด็กเยาวชน ทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และแอลกอฮอล์ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งเสพติดเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้ ของเด็กและเยาวชนอย่ามาก ขณะเดียวกันครอบครัวและเพื่อนมีอิทธิพลให้เด็กเห็นและเลียนแบบ จึงเป็นที่น่ายินดีที่โรงเรียนคาทอลิกจะจับมือกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชน การจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีประสิทธิผลเป็นความท้าทายที่จะทำให้เด็กเยาวชนมีความรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า.