สสส. หนุน “วิทย์ฯ” เพื่อสุขภาพ
พัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมใน รร.
นายชายกร สินธุสัย นักวิชาการด้านการบริการเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวถึง “โครงงานเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” ซึ่งเป็นโครงการอบรมครูแกนนำและให้ทุนสนับสนุนนักเรียน เพื่อดำเนินโครงงานวิทยาศาสตร์ให้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า โครงการระยะที่ 1 จบไปแล้วในปี 2551 ส่วนในระยะที่ 2 ซึ่งจะดำเนินการในปี 2552 นี้ จะให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขลักษณะ อาทิ ด้านอาหาร น้ำดื่ม ห้องสุขา ที่ทิ้งขยะ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในโรงเรียนมากขึ้นกว่าช่วงแรก
เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกือบทุกโรงเรียนประสบอยู่มากน้อยต่างกัน มีความพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่ยังไม่เป็นระบบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจับต้องและคลี่คลายปัญหาให้เห็นผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมได้
“โครงการแรกเราเปิดกว้าง แต่ระยะที่ 2 นี้จะเน้นด้านสุขอนามัยนักเรียนเป็นหลัก โดยเฉพาะกับกลุ่มโรงเรียนที่มีเด็กด้อยโอกาส ฐานะของผู้ปกครองไม่ค่อยดีนัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ สถานที่คับแคบและครูมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน อาทิ โรงเรียนในเครือราชประชานุเคราะห์ ศึกษาสงเคราะห์ ทั้งนี้ทีมงานจะเดินสายอบรมครูในทุกภูมิภาคที่ร่วมสมัครเพื่อให้เป็นต้นแบบก่อนขยายผลสู่นักเรียนต่อ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมนี้”
ส.ต.อ. (หญิง) ปาริชาติ บัวรอด ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทย ต.แมดนาท่ม อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร กล่าวภายหลังการอบรมครูแกนนำที่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 22 – 24 เมษายนที่ผ่านมา ว่า จะนำองค์ความรู้ที่ได้ ไปถ่ายทอดให้นักเรียนทำโครงงานวิทย์ฯ เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยจะเริ่มจากโครงการสำรวจง่ายๆ เช่น สำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะ โครงงานความปลอดภัยด้านอาหาร สุขอนามัยด้านสุขภาพฟัน ความสะอาดในห้องสุขาโรงเรียน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของนักเรียนมาก เพราะส่วนใหญ่ฐานะทางบ้านยากจน ผู้ปกครองไม่มีเวลาเอาใจใส่ด้านสุขลักษณะ
ซึ่งโครงงานที่เคยจัดกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการฝึกเรื่องอาชีพ การประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้เพื่อต้องการให้เด็กมีรายได้ แต่ในเรื่องสุขลักษณะที่เชื่อมโยงกับโครงงานวิทยาศาสตร์ยังไม่มี คาดว่าเมื่อทำแล้วน่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในรั้วโรงเรียนได้มากขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้นักเรียนสุขภาพแข็งแรง
ด้านนายอิศรา ศรีสุโน ครูโรงเรียนศรีเจริญศึกษา ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเข้าร่วมอบรมด้วยเช่นกัน กล่าวว่า จะกลับไปทำโครงงานตรวจสอบสภาพน้ำดื่มที่โรงเรียน เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนอยู่ห่างไกล ต้องสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และดื่มผ่านเครื่องกรองน้ำ แต่บางครั้งเมื่อดื่มแล้วนักเรียนมีอาการปวดท้อง จึงไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะน้ำดื่มหรือไม่เพราะไม่เคยมีการตรวจสอบมาก่อน ประกอบกับเมื่อฝนตกหนักน้ำที่ผ่านเครื่องกรองมีกลิ่นและสีเจือปนอยู่บ้าง ดังนั้นเมื่อรับการอบรมและได้ทุนทำโครงงานฯ จึงเห็นร่วมกันว่าน่าจะตรวจสอบสภาพน้ำดื่ม
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update 29-04-52