สสส. หนุน ‘วัดปลอดบุหรี่’ ขับเคลื่อนเพื่อสุขภาวะ

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์ 

                     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญและห่วงใยต่อสุขภาพของพระสงฆ์ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้แก่พุทธศาสนิกชน  รวมถึงสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ มูลนิธิโพธิยาลัย เปิดเวที แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานวัดปลอดบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงและการสร้างเสริมสุขภาวะวัดและชุมชน โดยเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก ระหว่างภูมิภาค” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้นท์ เชียงใหม่

                     ในงานมีใจความจากการปาฐกถาพิเศษ “วิสาขาบูชา งดเลิก สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาวะของสังคมไทย” โดย พระเดชพระคุณ พระราชโพธิวรคุณ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายไว้ว่า “พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชน ประชาชน ยามจน ยามเจ็บ ยามจาก ยามมีปัญหา ฉะนั้นพระสงฆ์ต้องดำรงตนเป็นที่พึ่งให้พุทธศาสนิกชนทั้งในแบบกายภาพและชีวภาพ ในทางกลับกันเวลาที่พระป่วยไข้ไม่สบาย ต้องดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องของบุหรี่ที่มีพิษมาทำลายทั้งจิตใจและร่างกาย เป็นพิษต่อจิตใจ คือ ใครที่เห็นในสมัยนี้ ยามนี้ จะไม่ชอบ ในวัดเขาไม่สูบบุหรี่กันแล้ว ต้องช่วยกันรณรงค์ ห้ามสูบหรี่ พระบางรูปทำอย่างไรก็ไม่หยุดสูบบุหรี่ เมื่อมือไม่คีบ ปากไม่คาบ ก็หยุดได้แล้ว เราเป็นพระนอกจากป้องกันตัวเอง เราต้องดูแลป้องกันคนรอบข้างด้วย โดยเฉพาะญาติโยม ผู้ที่มาอุปัฏฐากดูแลเรา ปลูกจิตสำนึกเข้าไว้ ว่าบุหรี่ไม่ดี มีพิษภัยอย่างไร เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก ต้องเป็นกำลังสำคัญในการดูแลพระสงฆ์และญาติโยมให้ปลอดบุหรี่ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีด้วยกัน”

                     นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนให้พระสงฆ์ สามเณร และวัดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ ไว้ว่า “สสส. ได้สนับสนุน มูลนิธิโพธิยาลัย เพื่อทำภารกิจสำคัญ สองประการ ประการแรกคือการขับเคลื่อนวัดหรือศาสนสถานให้เป็นที่ปลอดบุหรี่ ปลอดจากปัจจัยเสี่ยง หมายถึง สุรา อบายมุขต่างๆ รวมถึงการพนัน และคาดหวังว่าจะดำเนินการตามที่ทำอยู่แล้วในวัดต่างๆ ให้ครบทั้ง19 จังหวัด ประการที่สอง คือ การพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ให้เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสามเณร เหมือนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้ง 42 แห่ง ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว

                     สสส.ได้รับทราบผลการดำเนินงานที่เป็นความก้าวหน้า ที่น่าสนใจและมีความสำคัญมาก คือ การใช้วัดเป็นฐานในการชวนคนเลิกบุหรี่ เราทราบว่าตัวเลขของผู้ที่มาร่วมลงนามอธิษฐานจิต ลดเหล้า ลดบุหรี่ มีจำนวนสูงถึงหนึ่งหมื่นสามพันกว่าราย กระจายไปตามวัดต่างๆ สามพันวัด มีพระสงฆ์ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ หนึ่งร้อยสี่สิบเจ็ดรูป โดยขบวนการขับเคลื่อนของพระคิลานุปัฏฐาก ต้องอนุโมทนาในความสำเร็จนี้

                     แผน 10 ปีของ สสส. เรามุ่งลงทุนเพื่อที่จะทำภารกิจสำคัญให้สำเร็จ คือ การปกป้องเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ปลอดอิทธิพลจากปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะจากเหล้าและบุหรี่ เยาวชนย่อมหมายถึงสามเณร ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป ในแง่ที่ว่าเป็นสมณะท่านที่จะเป็นผู้ที่ผดุงศาสนา ขณะเดียวกันมีตัวเลขที่ไม่น่าสบายใจ เนื่องจากมีพระป่วยจำนวนมาก พระอาวุโสหลายรูปก็ลาสิขาไปดูแลญาติโยมที่ป่วยเพราะไม่มีผู้ดูแลเช่นกัน พระสงฆ์ลดจำนวนลงตามลำดับ จึงอยากให้มีการปกป้องคุ้มครองสุขภาพของพระ โดยเฉพาะพระรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า บุหรี่ไม่เพียงแต่กระทบต่อจริยวัตรหรือภาพลักษณ์

                     ของพระที่ปรากฏต่อสายตาญาติโยม โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เป็นยุคโซเชียล อาจไปสู่ความเสื่อมศรัทธาได้ พิษภัยของบุหรี่มีหลักฐานชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ว่า ไม่เพียงแต่ก่อผลเสียกับตัวผู้เสพ ควันจากผู้สูบยังก่อผลเสียต่อคนที่อยู่รอบข้าง

                     สสส. ให้ความสำคัญในเรื่องของการปลอดบุหรี่แล้ว ยังให้ความสำคัญเรื่องสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการลดอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยง ทั้งบุหรี่ เหล้า รวมไปถึงสิ่งเสพติด วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญในการเป็นแหล่งเกื้อกูลการมีสุขภาวะที่ดี และทำอย่างไรจะให้พระสงฆ์มีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงชุมชน โดยพระซึ่งเป็นผู้นำทางสังคม ที่ชักชวนญาติโยมให้ลดการเสพ การบริโภค สิ่งที่เป็นอบายมุขหรือปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย และให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางในที่สุด อย่างน้อยในด้านการศึกษา พระธรรมคำสอน รวมไปถึงชี้นำแนวทางที่ถูกต้องให้กับญาติโยม อย่างไรก็ตาม สสส. มั่นใจว่าพระสงฆ์จะมีบทบาทในการลดทอนจากปัจจัยความเสี่ยงจากสิ่งนี้ได้ และยังอยากให้วัดสามารถนำเสนอแนวทางกับทาง สสส. เพื่อร่วมกันรณรงค์ ปกป้องดูแลดำเนินการต่อไป”

                     ด้าน คุณชุติกานต์ สุริยะ ตัวแทนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวสั้นๆ ว่า “เรามองว่าพระสงฆ์ คือ องค์ความรู้ของชุมชน ท่านเป็นผู้รู้ มีคุโณปการมากมาย อะไรก็ตามที่พระสงฆ์พูดชาวบ้านจะฟัง มองว่าพระสงฆ์ที่สูบเอง คือเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะต้องเป็นแบบอย่าง หรือจากญาติโยมที่สูบ ก็เป็นเรื่องที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์ เรามีกองทุนท้องถิ่น กองทุนระดับสุขภาพ เข้ามาดำเนินการกับเรื่องนี้”

                     แพทย์หญิงสิดาพัณณ์  ยุตบุตร  รองผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ในส่วนของหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก จะเป็นส่วนที่กรมอานามัยสร้างขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์ได้ดูแลกันเอง สำหรับพระคิลานุปัฏฐาก จะส่งเสริมป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ที่ยังไม่ป่วยเป็นโรค โครงการวัดปลอดบุหรี่จะเป็นหน้าที่ของพระพระคิลานุปัฏฐาก ที่จะเป็นต้นแบบในเรื่องการไม่สูบบุหรี่ให้กับพระสงฆ์รูปอื่นๆ และจะต้องปลอดการสูบบุหรี่  ซึ่งในส่วนของกรมอนามัยนั้นก็จะคอยหนุนเสริม เรามีหลักสูตรของพระพระคิลานุปัฏฐากในเรื่องของพระที่ป่วยอาพาธ แล้วก็หนุนเสริมความรู้จากพิษภัยของบุหรี่  ถ้าต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่จะทำอย่างไรให้สำเร็จ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพระคิลานุปัฏฐาก และเผยแพร่ให้พระสงฆ์รูปอื่นและฆาราวาสได้  ทางศูนย์จะเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพที่ยังไม่ป่วยด้วย ทุกๆ มิติ ถ้าป่วยก็ดูแล แต่ถ้ายังไม่ป่วยก็ให้ปลอดบุหรี่ ลด ละ เลิก หนุนเสริมให้เป็นวัดปลอดบุหรี่”

                     เพื่อขับเคลื่อนให้พ้นจากปัจจัยเสี่ยง โดย สสส. นอกจากอาหารหวาน มัน เค็ม ยังมีเรื่องของบุหรี่ ด้วยกลไกความร่วมมือ ร่วมใจ ในบทบาทของพระสงฆ์ ให้ วัดปลอดบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีด้วยกัน  สู่การสร้างเสริมสุขภาพวะของชุมชนและสังคมต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code