สสส.หนุน ‘รอแง็ง’ เยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลน
สสส.หนุน "โครงการรอแง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้" ดึงวัฒนธรรมดนตรีมาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพัฒนาชุมชน
15 ปีก่อน ผู้อาวุโสแห่งบ้านท่าน้ำเค็มใต้ หมู่ 1 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล นำพา "อนันต์ มารามาศ" มาเรียนรู้ศาสนาอิสลาม ฝึกการเป็นผู้นำ จากจุดดังกล่าว เขาจึงเริ่มชวนเด็กๆ ร่วมทำงานเชิงศาสนา และ งานสังคม ต่อเนื่องมาจนเขาเป็นผู้รับผิดชอบ "โครงการรอแง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้" ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้ ผ่านวิกฤติมาตั้งแต่การให้สัมปทานตัดไม้โกงกางเผาถ่าน กระทั่งเคยมีโรงงานขยะไปตั้งอยู่ในป่าชายเลน กระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานป่าชายเลนเคยมีการจ้างคนดูแลบริเวณดังกล่าว แต่เมื่อหมดงบประมาณก็เลิกจ้าง
กลุ่มเยาวชนบ้านท่าน้ำเค็ม ภายใต้การนำของ "อนันต์" ในนามกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ จึงเข้ามาทำงานแบบจิตอาสา ตั้งแต่ปี 2549 ทั้งลาดตระเวนดูแลไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายและปลูกป่าเพิ่ม คนกลุ่มนี้ยังทำกิจกรรมสังคมอื่นๆ จนกระทั่งพัฒนาเครือข่ายเดิบโตเป็นกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ท่าแพ ในปี 2554 เมื่อมาทำโครงการรอแง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลน "อนันต์" ต้องการขยายฐานคนทำงานชุมชนให้กว้างออกไป โดยเฉพาะคนสูงอายุ 70-80 ปี ที่มองว่า "วัฒนธรรมดนตรี" เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจแม้ว่าในทางศาสนาอิสลามจะมีข้อจำกัดในการนำเสนอ
“คำสอนอย่างหนึ่งของศาสนาอิสลามบอกว่า มนุษย์ที่ดีที่สุดคือผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติ บางช่วงชีวิตที่ผ่านมาของผม อาจไม่สนใจ จนผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องเลว เรื่องดีจนเห็นว่าถ้าอยากให้เราดี สังคมดี ต้องนำคำสอนนั้นมาปฏิบัติ เราไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ลืมวัฒนธรรมชุมชนเดิม คือรอแง็ง ซึ่งเป็นการละเล่นของชุมชนมุสลิมริมทะเลทางภาคใต้ สิ่งนี้จึงเท่ากับเป็นการฟื้นวัฒนธรรม” อนันต์กล่าว
"รอแง็ง" จึงถูกดึงมาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพัฒนา และเนื่องจากปราชญ์รอแง็งเป็นผู้สูงอายุ สามารถเกี่ยวโยงคนหลายกลุ่ม จึงรวมคนทุกกลุ่มทุกวัยในชุมชน มาทำงานพัฒนาร่วมกัน นอกจากปราชญ์รอแง็ง มีการดึงปราชญ์ด้านอื่นๆมา สร้างความร่วมมือในการทำงานพัฒนาชุมชนอีกหลายด้าน สิ่งที่ได้จากการขับเคลื่อนโครงการฯนอกจาก ได้จัดทำหนังสือข้อมูลชุมชนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ข้อมูลเอกสารในชุมชนอย่างเป็นระบบเล่มแรกที่เยาวชนช่วยกันทำเอง ยังเกิดวิถีอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม มีการจัดการป่าชายเลนโดยชาวบ้าน โดยสร้างกฎกติกาการใช้ป่าชายเลนร่วมกันของชาวบ้านเอง ขยายแนวคิดไปยังหมู่บ้านข้างเคียง “การจัดการป่าชายเลน ทุกวันนี้ชาวบ้านให้ความร่วมมือในการดูแลเกือบ 100% หากใครจำเป็นต้องการตัดต้นไม้จากป่าไปใช้สอย ต้องทำตามกติกาเท่านั้น คือขออนุญาตประธานเครือขายอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชน คือตัวผม ใครตัด 1 ต้น ต้องปลูกทดแทน 10 ต้น และต้องร่วมกิจกรรมกับทางเครือข่าย”อนันต์กล่าวยืนยันและว่า ทุกวันนี้ ป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มใต้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศน์ดีขึ้นเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในป่าชายเลน โดยเฉพาะหอยปะห์ และสาหร่ายหรือสาย แหล่งอาหารเฉพาะถิ่น“
การขับเคลื่อนโครงการ สสส. ทำให้ได้กลุ่มนักดนตรีรอแง็ง 1 กลุ่ม ได้ผู้อาวุโสในชุมชนที่พร้อมให้ความรู้กับคนรุ่นลูกหลานอย่างภูมิใจ ทั้งที่ช่วงหนึ่งคนต่างวัยคุยกันแทบไม่ค่อยรู้เรื่อง ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
“ตอนแรกผมมาทำสิ่งนี้ คนไม่เข้าใจ ก็มีแรงเสียดทานพอสมควร แต่เมื่อเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ก็ยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ ความสำเร็จผมมองว่ามาจากความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของกลุ่มเยาวชน การเสียสละของทุกฝ่าย ในการทำงานจิตอาสา การเอาดนตรีมาสื่อสาร เพราะคนสนใจ ชอบดนตรี” อนันต์เล่า พร้อมอธิบายต่อว่า แม้เขาเคยชอบดนตรีสากล แต่งเพลง 30-40 เพลง แต่การมารู้จักกับรอแง็ง ได้มองว่ารอแง็งเทียบกับดนตรีคลาสสิคระดับโลก เมื่อทำโครงการ สสส. ได้ปราชญ์ชาวบ้าน "อานนท์ ตำสาเหล็ม" เขียนเพลงชื่อว่า "ริมเล" เขานำมาใส่ทำนองอิงกับรอแง็ง เมื่อเผยแพร่ไปตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางอินเตอร์เนท ทำให้ได้รับความสนใจในวงกว้าง “การแต่งเพลงแบบนี้ก็สื่อสาร การทำงานชุมชนได้อย่าง เพลง 'ริมเล' ทำให้คนสนใจได้รู้ว่า ชาวบ้านที่นี่ทำอะไรอยู่” โดยในช่วงท้ายเพลง เอาเพลงบุหงาตันหยงซึ่งเป็นเพลงรอแง็ง มาประกอบ มีเนื้อเพลงที่คนที่รู้จักรอแง็งจะคุ้นกันดี แต่ได้ดัดแปลงเข้ากับเนื้อหาใหม่ว่า“
บุหงาตันหยง หยงไหรละน้องใต้ต้นตะบูน พี่ใจละเหี่ยจนเสียศูนย์ เพราะสาวสตูลใจโอนเอน ความเอ๋ยความรัก น้องเอ๋ยเหมือนไม้หลักปักเลน เจอคนเทคแคร์ตากแอร์เย็น ลืมป่าชายเลนและลมเล
“โหรม ตำสาเหล็ม” ปราชญ์รอแง็ง บ้านท่าน้ำเค็มใต้ เล่าว่า รอแง็งมีมากว่า 100 ปี คณะที่มีชื่อเสียงจังหวัดสตูลอยู่ที่อำเภอละงู ทุกวันนี้ยังรับงานแสดงแม้จะมีอายุมากแล้ว ชาวบ้านมักรับมาแสดงในงานแต่งงาน หรือแก้บน การเล่นรอแง็ง สมัยก่อนเครื่องดนตรีมีแค่กลองรำมะนา 2 ใบ กับซออู้ มีขับเพลง แบบด้นสด ระหว่างชายหญิง และมีการร่ายรำตามจังหวะเพลง “ผมก็ถ่ายทอดเรื่องรอแง็งให้กับคนรุ่นใหม่ เรื่องประวัติความเป็นมา และสอนการตีรำมะนา เพราะเคยฝึกเล่นมา การที่คนรุ่นใหม่มาฟื้นรอแง็งโดยประยุกต์เครื่องดนตรี เป็นผลดี เพราะในสังคมรุ่นใหม่ อาจมีปัญหาหลายอย่าง ก็ใช้รอแง็งมาช่วยแก้ปมได้บ้าง ได้ความคิดสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มาร่วม” โหรม เล่า
"อาหลี ลิมานัน" ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าน้ำเค็มใต้ กล่าวว่า ทางโรงเรียนสนับสนุนให้คำแนะนำ และให้เด็กเข้าร่วมโครงการรอแง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลนมาตลอด มองว่าทางกลุ่มทำกิจกรรมดนตรี เพื่อรองรับเด็กๆให้สนใจกิจกรรมมากขึ้น สามารถดึงดูดเด็กๆ เยาวชนให้เข้ามา สนใจ รักที่จะร่วมทำงาน กระทั่งดึงเด็กที่ที่เดินผิดทางกลับมาได้ “สิ่งดีๆที่เกิดจากโครงการ คือความรักบ้านเกิด สร้างพื้นฐาน ให้เด็กเรื่องอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าชายเลนสมบูรณ์ ส่งผลดีต่อชาวบ้านโดยเฉพาะชาวประมง” อาหลีมองว่า การต่อยอดน่าจะทำให้คนในชุมชนได้รู้จักรอแง็ง ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่หายไปช่วงหนึ่ง เพราะคนส่วนหนึ่งเห็นความสำคัญของตรงนี้
ขณะที่ ยำอาด ลิงาลาห์ โต๊ะอิหม่าม มัสยิดบ้านท่าน้ำเค็มใต้ กล่าวว่า ประชากรที่นี่ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีการใช้กฎระเบียบศาสนามากำหนด เป็นระเบียบทางสังคม การที่ผู้ใหญ่กับเด็กมีช่องว่างมัสยิดได้มีบทบาทส่งเสริมการรวมตัวของเด็ก จนเกิดเป็นกลุ่มสภาเยาวชน สามารถขับเคลื่อนแก้ปัญหาหลายเรื่อง “ที่กลุ่มเยาวชนทำเราคอยสนับสนุน เพราะทุกอย่างมาแก้ปัญหาสังคม” โต๊ะอิหม่ามกล่าว
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์