สสส. หนุนแนวคิดลงทุน 1,000 วันในเด็ก ดันแม่ลาคลอดเกิน 3 เดือน
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งความหวังอยากเห็นคนรุ่นใหม่ได้รับการพัฒนา ทุกมิติและในทุกช่วงวัย เป็นคนดีคนเก่ง และมีคุณภาพ ดังนั้น จึงต้องเร่งมือและลงทุน ด้านทรัพยากรเพื่อให้เด็กไทยมีความพร้อม มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อที่จะรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการศึกษาสถานการณ์ที่เด็กไทยกำลังเผชิญ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรครวมทั้งปัจจัยที่จะหนุนต่อการพัฒนาของเด็กและเยาวชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงผู้ใหญ่
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า เนื่องจากองค์ ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเด็ก อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกช่วงวัย มีการศึกษาอย่างกระจัดกระจาย ซึ่งยัง มีบางประเด็นที่ยังไม่ถูกนำเสนอ สสส. จึงสนับสนุนโครงการ "การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" ใน 7 หัวข้อย่อย ครอบคลุมประเด็นพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา สาธารณสุข การศึกษา สันทนาการ เป็นต้น โดยมี ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ จาก ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นหัวหน้า โครงการวิจัยฯ
ในการรายงานผลการศึกษางบประมาณ รายจ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0 – 3 ปี ในประเทศไทย รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาทดิ์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าว ตอนหนึ่งว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 0 – 3 ปี ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในช่วงวัยอื่นๆ แต่การจัดสรรงบเพื่อพัฒนาเด็กช่วงแรกเกิด ถึง 3 ปีของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญของการพัฒนาเพื่อเติบโตเป็นกำลังของประเทศในอนาคต
"จากการสำรวจสวัสดิการภาครัฐที่จัดหาให้กับเด็กช่วงอายุ 0 – 3 ปี จาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ ในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 58,508 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วน ของงบรายจ่ายประจำปี ร้อยละ 2.0 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP เท่านั้น คิดเป็นรายหัว จะอยู่ที่ 22,806 บาทต่อคนต่อปี"
รศ.ดร.ศาสตรา กล่าวอีกว่า สำหรับการประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อม การดูแลเด็กปฐมวัยในไทย พบว่า ยังมี ปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น สุขภาพของเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อม ของผู้เป็นแม่เป็นคุณแม่วัยใสขาดวุฒิภาวะ ในการเลี้ยงดูบุตร การขาดความรู้หรือฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ล้วนส่งผลต่อโภชนาการสำหรับเด็กเล็กแรกเกิดถึง 6 เดือนด้วย ซึ่งจากผลการประเมินพบว่าเด็กในช่วง 0 – 5 เดือนที่ได้กินนมแม่อย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้น"
ด้าน ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาพัฒนาการและโภชนาการ ส่วนหนึ่งพบปัญหาเรื่องสิทธิการลาคลอด ของพ่อแม่ ที่แม้ไทยจะกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน แต่ยังจำกัดเฉพาะในการจ้างงานในระบบเท่านั้น แม่ส่วนใหญ่จะได้รับรายได้ที่ ลดลงในช่วงลาคลอดหรือในบางราย อาจไม่มีรายได้เลย ในขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้สวัสดิการที่ชัดเจนเพื่อเป็นทางเลือกในการเลี้ยงดูบุตรในช่วงต่ำกว่า 2 ปีให้กับผู้เป็นพ่อและแม่
"จากข้อมูลงานศึกษานี้ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทาง การพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0- 3 ปี เบื้องต้นคือขยายสิทธิการฝากครรภ์ของมารดาภายใต้ ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า ให้ฝากครรภ์นอกพื้นที่ทะเบียนบ้านได้ รวมถึงโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพื่อแก้ไข ปัญหาด้านโภชนาการรวมทั้งกระตุ้นให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น โดยภาครัฐ ควรจ่ายเงินสนับสนุนเด็กแรกเกิด โดย ไม่กำหนดเงื่อนไขเกณฑ์รายได้ของคนในครอบครัวหรือให้แบบถ้วนหน้าครอบคลุม เด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทย ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณในกรณีนี้ราว 34,958 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรูปแบบแรกราว 30,918 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลผลิตด้านทรัพยากรในวันข้างหน้า"
อย่างไรก็ตาม ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. คาดหวังว่า ผลจากการศึกษานี้จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลนำเข้าเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการทำงานของ สสส. โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชน พร้อมนำเสนอภาครัฐบาล และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลนี้ไปใช้ต่อไป "สิ่งหนึ่งที่เราสนใจ และมีข้อเสนอที่ชัดเจนมากต่อ ภาคเอกชน ภาคสถานประกอบการ ซึ่งเป็นที่รวมของคนวัยแรงงาน ซึ่งก็คือพ่อแม่ ซึ่งข้อเสนอ เช่น สิทธิในการลาคลอดและการเลี้ยงดู ลูกเล็ก ซึ่งทุกวันนี้สถานประกอบการอนุญาตให้ลาคลอดได้ 90 – 98 วัน ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน เมื่อเทียบกับผลวิจัยที่ว่า เด็กเล็ก การได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว เป็นเวลา 6 เดือนต่อเนื่องเป็นอย่างต่ำจะส่งผลต่อระดับไอคิวของเด็ก พัฒนาการและสุขภาพ ของเด็ก แต่โอกาสที่เด็กจะได้รับก็น้อยเพราะแม่ลาคลอดได้เพียง 3 เดือน
"ทั้งนี้ สสส. ได้หารือกับสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างผู้หญิงทำงานอยู่ พบว่า หลายแห่งได้ให้สิทธิกับลูกจ้างที่ตั้งครรภ์เกินกว่ากฎหมายกำหนด บางสถานประกอบการให้ลาคลอดได้ถึง 6 เดือนโดยยังได้รับ เงินเดือนเต็มจำนวน ซึ่งขณะนี้ สสส. อยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงาน เหล่านี้ ทั้งข้อคิดเห็นของผู้บริหารและพนักงานระดับต่างๆ ตลอดจนประเมิน ความคุ้มค่าในมุมมองด้านธุรกิจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ได้เห็นว่าการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ และ เด็กเล็กแรกเกิดถึง 3 ปี มีส่วนช่วยสังคมในการที่จะดูแลสถาบันครอบครัว" นางสาวณัฐยา กล่าว