สสส. หนุนเข้าวัด วันอาทิตย์ หวังดึงเยาวชนใกล้ชิดศาสนา
เด็ก ผู้ปกครองปลื้ม ธรรมะช่วยเปลี่ยนนิสัยให้ดีขึ้น
“วัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ” ประโยคนี้ฟังแล้วไม่รู้ว่ายังสามารถใช้ได้กับ ยุคสมัยปัจจุบันได้หรือไม่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับวัดวาอารามน้อยลงไปทุกวัน หรือบางคนแทบจะไม่ได้เข้าวัดเลยก็ว่าได้ หรือบ้างอาจจะทำบุญตักบาตร แต่ก็ทำกันนอกวัด อาจเป็นเหตุจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนแข่งขันกันมากขึ้น ทำแต่งานจนไม่มีเวลาว่าง ส่งผลให้คนไทยเราห่างไกลศาสนากันมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุผลนี้ จึงได้มีการจัดโครงการสนับสนุนวัดเป็นศูนย์กลางสร้างสุขของชุมชน(วศช.)ขึ้น ภายใต้คำขวัญ “เข้าวัดทุกวันอาทิตย์ ชีวิตเป็นสุข” ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อหวังว่าคนไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับศาสนามากขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นไปที่เด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังธรรมะให้เข้าไปอยู่ในจิตใจตั้งแต่ยังเล็กๆ
พญ.ผกา วราชิต ผู้จัดการ วศช. กล่าวว่า เหตุที่เน้นไปที่เด็กและเยาวชนนั้น เพราะคิดว่าธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ที่ช่วยขัดเกลาจิตใจของพวกเขาให้สงบ มีสมาธิ ให้เขาเป็นคนคิดดี ปฏิบัติดี เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ปลูกฝังง่าย และจะได้ติดเป็นนิสัยไปจนโต
ด้านพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานอำนวยการโครงการวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนของวัดนั้น อาจร่วมมือกับชุมชนจัดกิจกรรมต่างๆ ให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเยาวชนเราเข้าวัดน้อยลงมาก ทางมหาเถรสมาคมก็เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงมีมติสนับสนุนให้วัดจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ วศช.เพื่อหาทางส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าวัดมากขึ้น
โดยกิจกรรมที่ทางวัดยานนาวา ได้จัดในโครงการ วศช.ส่วนหนึ่ง คือการจัดให้มีการเรียนการสอนธรรมะให้แก่เด็กและเยาวชนทุกวันอาทิตย์ในช่วงเช้า ซึ่งในช่วงบ่ายจะเป็นการแบ่งแยกกลุ่มเป็นชมรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วาดภาพ รำไทย หรือ สอนภาษาจีน เป็นต้น โดยให้เด็กที่มาสามารถเลือกเรียนตามความสนใจของตนเองได้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีการทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งทั้งนี้เด็กๆ และเยาวชนไม่น้อยที่ต่างให้ความสนใจกับโครงการนี้
ด้าน ด.ช. วณิชาญ เนียมท้วม หรือน้องบอมบ์ นักเรียนโรงเรียนนนทรีวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หนึ่งในเยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในวันอาทิตย์ บอกว่า ตนเข้าร่วมมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยในตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย เห็นว่ามีเพื่อนเล่นก็เลยมา แต่พอเข้ามาร่วมโครงการแล้ว ก็รู้สึกว่าอย่างน้อยๆ ธรรมมะช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น
“ตัวผมเอง ผมคิดว่าการที่ได้เข้าวัดมาทำกิจกรรมต่างๆ มันทำให้จิตใจผมสงบขึ้น ทำให้มีสมาธิในการเรียนหนังสือมากขึ้น และที่สำคัญผมคิดว่าการอยู่ใกล้ๆพระ ใกล้วัด เป็นสิ่งที่ดีครับ” น้องบอมบ์พูด
ส่วน ด.ญ.นิษฐา ฉันทวิบูลชัย หรือน้องมาย นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้เหตุผลว่า การที่ตนเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ เนื่องจากอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญตนยังคิดว่าการเข้าวัดเรียนพระพุทธศาสนาจะทำให้เราเป็นคนดี
“หนูเพิ่งเข้าร่วมโครงการในปีนี้เป็นปีแรกค่ะ แล้วเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้ฯ เพราะหนูอยู่ว่างๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจากนั่งดูโทรทัศน์ เล่นเกม ที่สำคัญมันเบื่อด้วยค่ะ เลยคิดว่าอยากลองมาเข้าร่วมโครงการนี้ดู และคิดว่ามันจะช่วยเสริมให้เราเรียนหนังสือเก่งขึ้น เพราะธรรมะทำให้คนเรามีสมาธิ รอบคอบ ใจเย็น ขึ้นและเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ” น้องมายพูด
ทั้งนี้ ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนต่างพึงพอใจและสนับสนุนบุตรหลานให้มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีจิตใจและความประพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
โดย นางสุวิตตา อุปเสน ผู้ปกครองรายหนึ่งที่พาลูกมาเข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า การเข้ามาเรียนธรรมะในวันอาทิตย์นั้น เป็นความต้องการของเด็กเองที่จะมาเขาร่วม โดยตนไม่ได้บังคับแต่อย่างไร อีกทั้งไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่ามีโครงการนี้ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับศาสนา ธรรมมะ ก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้เขาอยู่บ้านเฉยๆ จึงอนุญาตให้เขามาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
“หลังจากที่เขาเข้าร่วมโครงการ ได้สักพักหนึ่ง ฉันรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าเขาลดความก้าวร้าวลง ใจเย็นขึ้น แถมสวดมนตร์ก่อนอีกต่างหาก ทั้งๆๆที่ก่อนหน้านี้ บอกเท่าไหร่ก็ไม่เคยทำ จึงคิดว่าธรรมมะช่วยขัดเกลาจิตใจเด็กที่เป็นผ้าขาวได้จริงๆ ” นางสุวิตตากล่าว
ด้าน นางวิไล ญาณสถิตย์ผู้ปกครองอีกราย กล่าวว่า พอรู้ว่ามีโครงการนี้ ก็เลยชักชวนลูกมาเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากให้เขาได้ฝึกสมาธิ เนื่องจากลูกมีสมาธิสั้น กลัวจะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ตามเพื่อนไม่ทัน อีกทั้งนอกจากจะเรียนธรรมมะแล้ว ยังมีการแบ่งชมรม ให้เด็กได้ฝึกทักษะตามความชอบของอีกด้วย ก็เลยคิดว่าลูกคงจะชอบ
“ตอนแรกก็คิดว่าเขาอาจจะเบื่อได้ หากเรียนธรรมะอย่างเดียว แต่พอทราบว่ามีชมรมด้วย จึงคิดว่าเค้าคงจะชอบ แต่ที่สำคัญคิดว่าธรรมมะช่วยฝึกสมาธิได้ จึงอยากให้เขามาฝึกทำสมาธิ ดีกว่าการให้อยู่บ้าน นั่งเล่นเกม ดูโทรทัศน์ ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ อีกอย่างตัวเองเป็นคนชอบเข้าวัด ทำบุญ ทำทานอยู่แล้ว จึงอยากให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับวัด กับศาสนาเพราะจะช่วยให้จิตใจ บริสุทธ์ ห่างไกลจากสิ่งยั่วยุทั้งหลายที่มีอยู่มากมายในตอนนี้” นางวิไลกล่าว
หากโครงการดี ๆ แบบนี้บรรลุเป้าหมายได้ใน 80 วัดทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ ทั่วทุกภาค วัดก็จะกลับมาเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยและยังเป็นศูนย์กลางสร้างสุขของชุมชนเหมือนที่เคยเป็นอีกครั้ง
หากสังคมและชุมชนให้ความใส่ใจกับพวกเด็กๆและเยาวชน ด้วยการปลูกฝังแต่สิ่งดีๆ โดยใช้ศาสนาเป็นตัวช่วย อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างช่วยกันดูแลคนละไม้คนละมือ อนาคตของชาติเหล่านี้ก็จะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพ และสังคมไทยในอนาคตต่อไปต้องเป็นสังคมที่สงบสุขน่าอยู่ไม่แพ้ประเทศไหนเป็นแน่….
เขียนโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.co.th
Update:27-08-51