สสส.หนุนสร้างค่ายครอบครัว
แก้ปัญหา“พ่อแม่รังแกฉัน”
ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว ลูกคือคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อนคนอื่น หลายหน่วยงานช่วยกันร่วมคิดแก้ไขปัญหา โดยมีมุมมองลงไปที่ต้นเหตุของปัญหา เช่น มองว่าที่มาของปัญหาเกิดจากการใช้ความรุนแรงแก่เพศหญิงมีมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากฝ่ายชายมีค่านิยมเป็นใหญ่ นำมาซึ่งปัญหามากมาย ทั้งร่างกาย ละเมิดทางเพศ แม้กระทั่งค่าแรงในการทำงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
มีหลายฝ่ายต้องการไปแก้ปัญหา แต่ยอมรับความจริงว่าเป็นไปได้ยาก หากทัศนคติของฝ่ายชายยังไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกัน และการให้ความรู้เพศหญิงที่สมัยนี้มีการผลักดันกฎหมายออกมาให้การคุ้มครอง รวมทั้งยังมีหน่วยงานต่างให้การช่วยเหลือ อย่างเช่น “มูลนิธิเพื่อนหญิง” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งท้ายที่สุดของการแก้ปัญหานี้ก็คือ การนำไปสู่การแก้ปัญหาในครอบครัวนั่นเอง
“จะเด็จ เชาวน์วิไล” ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง เล่าว่า มูลนิธิเพื่อนหญิงก่อตั้งเมื่อปี 2523 เกิดจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ นักพัฒนา ผู้ใช้แรงงานหญิง ร่วมกันก่อตั้ง โดยเริ่มต้นตั้งชื่อว่ากลุ่มเพื่อนหญิง ซึ่งมองว่าปัญหาผู้หญิงเกิดมาจากความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาทางเพศ การค้ามนุษย์ ความแตกต่างเรื่องค่าแรงระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนำมาจากทัศนคติผู้ชายเป็นใหญ่ กลุ่มเพื่อนหญิงจึงต้องการหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยสร้างความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงให้เกิดขึ้น
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่า การทำงานช่วงแรกคือการเรียนรู้ ทำงานช่วยเหลือผู้หญิง แต่ขณะนี้ได้มุ่งเน้นเรื่องการเสริมพลังผู้หญิงให้เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเอง วิธีการคือให้การศึกษา โดยจะมีสายด่วนให้การศึกษาแก่ผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัวหรือทางเพศ แต่ไม่กล้าออกมาเปิดเผย เพราะอาจถูกสังคมมองว่าไม่ดี มีปัญหา ทำให้ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ ทั้งที่ข้อเท็จจริงปัญหามากจากผู้ชายเป็นผู้กระทำ
“ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อเจอปัญหาจะโทษตัวเอง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำความผิด แต่มาจากทัศนคติของคนในสังคม ทำให้ผู้ชายคิดว่ามีอำนาจเหนือกว่า เขาเลยมากระทำต่อผู้หญิง”
“เราจึงต้องช่วยเหลือให้การฟื้นฟูเขา และผลักดันให้ผู้หญิงรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ให้พวกเขามาเรียนรู้กันเองว่ามีเพื่อนหลายคนที่เคยผ่านปัญหามาแล้ว แล้วสามารถแก้ไขได้ และมาให้คนเหล่านั้นมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบให้หลุดพ้น”
สำหรับผลงานที่ผ่านมาของมูลนิธิกลุ่มเพื่อนหญิงนั้น ผู้จัดการมูลนิธิบอกว่า ได้ทำงานร่วมกับผู้หญิง คือผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากครอบครัวและทางเพศ อีกกลุ่มคือผู้ใช้แรงงานหญิง โดยรณรงค์ผ่านสหภาพแรงงานหญิง ผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันสังคม ปี 2533 เนื่องจากช่วงนั้นแรงงานหญิงได้ค่าแรงตอบแทนเท่ากับขั้นต่ำ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จึงต้องจัดหาสวัสดิการต่างๆ มาชดเชยให้ เช่น เรื่องการลาคลอดไปเลี้ยงบุตร และการลาคลอด 90 วัน
นอกจากนี้ ยังผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว หรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะปัญหานี้นำมาซึ่งความรุนแรงต่อเพศหญิง
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่า ส่วนการทำงาน เรามีพื้นที่นำร่องทำงานเชิงลึกใน 10 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน อำนาจเจริญ สุรินทร์ กรุงเทพฯ นนทบุรี ชุมพร
เราไม่ได้ทำงานเชิงรณรงค์เพียงอย่างเดียว แต่ได้ทำงานเชิงลึกให้ชุมชนแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงวิธีการ คือลงไปด้วยการทำงานวิจัย คือผู้ชายสร้างความรุนแรงในครอบครัวเพราะอะไร ผลวิจัยปี 2545 ระบุว่าปัญหามาจากเหล้า จึงสนับสนุนให้ผู้ชายเลิกเหล้า ลดความรุนแรง โดยมีศูนย์ให้คำปรึกษาในชุมชนแก่ผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวและทางเพศด้วย
นอกจากนี้ยังมีการสอนวิธีเลิกเหล้าให้ผู้ชายด้วยการลงไปเยี่ยมบ้านให้คำปรึกษา เพราะคิดว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มต้นที่ผู้ชาย พร้อมปรับทัศนคติให้เห็นว่าต้นตอของปัญหามาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายคนก็เลิกได้ จึงเกิดต้นแบบไปให้คำปรึกษาผู้ชายคนอื่นๆ
“จะเด็จ” บอกว่า จากนั้นเราได้สร้างค่ายครอบครัวโดยเอาพ่อที่เลิกเหล้า โดยมีลูกและภรรยามาคุยกับครอบครัวที่ต้องการเลิก แลกเปลี่ยน รณรงค์ให้เกิดครอบครัวปลอดเหล้าในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนงานเลี้ยงต่างๆ ไม่มีเหล้า หลายจังหวัดทำแล้วได้ผล ทำให้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในชุมชนลดลง
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่า สำหรับสถิติปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงจากการจัดอันดับ จะเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรง เรารับทราบปีละ 1.5 พันราย ร้อยละ 70 คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วนำมาสู่การทำร้ายร่างกาย เช่น การทุบตี การทำร้ายจิตใจ คือสามีไปมีภรรยาน้อย รวมทั้งการด่าทอ ไม่รับผิดชอบ ไปดื่มเหล้า ทำให้เพศหญิงต้องมานั่งทนทุกข์
ส่วนเรื่องทางเพศ ได้แก่ ปัญหาการทำอนาจารทางเพศ ข่มขืน รุมโทรม นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องค่าแรง การถูกเบี้ยวค่าแรง การถูกเลือกปฏิบัติ และการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ
“หากเป็นปัญหาของเด็กหญิงจะเป็นเรื่องท้องโดยไม่พร้อม เกิดจากผู้ชายมีค่านิยมอำนาจเหนือกว่า คิดว่าการมีผู้หญิงหลายคนเป็นเรื่องชอบธรรม เพราะถูกปลูกความคิดเป็น “ขุนแผน” ยิ่งมีผู้หญิงมาก เป็นผู้ชายเก่ง จึงนำมาซึ่งปัญหามากมาย” จะเด็จกล่าว และว่า เด็กผู้หญิงที่มาพบจะบอกว่าผู้ชายมาหลอกมีความสัมพันธ์ หรือหลอกโดยใช้เหล้าหรือยาต่างๆ หลายคนรู้ไม่เท่าทัน เพราะถูกสอนมาให้เป็นกุลสตรี
สิ่งที่จะแก้ไขคือต้องบังคับใช้กฎหมายที่มามีอยู่ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว สามารถป้องกันสิทธิต่างๆ ของเพศหญิง และปรับทัศนคติของผู้ชายเสียใหม่ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการข่มขืน เช่น สามีไม่สามารถข่มขืนภรรยาได้อีกต่อไป ซึ่งสตรีก็ต้องรู้เท่าทันสิทธินี้
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่า ยอมรับว่าการใช้กฎหมายไม่เพียงพอ ต้องรณรงค์ให้ปรับความคิดของผู้ชายให้เห็นถึงปัญหาเพื่อนำไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล เช่น ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็จะมีบ้านพักเด็กและครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขก็จะมีศูนย์พึ่งได้ ขณะที่ตำรวจก็มีพนักงานสอบสวนหญิงแล้ว ยอมรับว่ากลไกเยียวยาขณะนี้เดินหน้าได้ดี แต่ประเด็นสำคัญเราต้องทำงานเชิงป้องกันไปด้วย
“เราสังเกตหรือไม่ สถานะสังคมผู้ชายและผู้หญิงมีความเท่าเทียมกัน ผู้หญิงเป็นใหญ่เป็นโตได้ แต่ปัญหาความรุนแรงและถูกเอาเปรียบก็ยังเกิดขึ้น เพราะว่าทัศนคติในทางสังคมโดยชายยังเป็นใหญ่อยู่ ไม่มีการปรับเปลี่ยน กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่มีหลักสูตรให้ผู้ชายเคารพความเท่าเทียมของผู้หญิง เราจึงต้องปฏิรูปให้มีเนื้อหาดังกล่าวเกิดขึ้น”
“จะเด็จ” ย้ำว่า เราจำเป็นต้องปฏิรูปสื่อ จะเห็นว่าละครต่างแพร่ภาพผู้หญิงไล่ตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย เป็นภาพที่ตอกย้ำทำให้สังคมมองว่าผู้หญิงไม่มีศักยภาพ วันๆ ก็ไร้สาระ เราก็ต้องปฏิรูปสื่อ โดยพัฒนาบทบาทผู้หญิงไปในทางบวกมากขึ้น หรือโฆษณาไม่เกี่ยวกับผู้หญิงเลย แต่เอามาแต่งตัวโป๊มานำเสนอ ซึ่งถือเป็นวาระใหญ่ของชาติ ไม่ใช่ปล่อยปีหนึ่งแล้วรณรงค์เพียงครั้งเดียว และควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่า สำหรับปัญหาที่ทำงานคือทัศนคติของคนในสังคมยังช้าอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ บางทียังมองว่าปัญหาหญิงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยังมองว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า เช่น ไปจังหวัดไกลๆ หน่วยงานราชการ ปัญหาความรุนแรงแก่ผู้หญิงไม่คิดจะช่วย หรือไปแจ้งความ
โดยตำรวจยังไม่รู้ว่ามีกฎหมายดังกล่าวเลย หรือตำรวจมองว่าสามีทุบตีภรรยาเป็นเรื่องส่วนตัว เขาไม่สนใจ เพราะเดี๋ยวก็คืนดีกัน ดังนั้นเราต้องปรับทัศนคติว่าปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หลายประเทศก็จัดการ เราจึงต้องช่วยดำเนินการ
“เดือน พ.ย. เรารณรงค์ให้ผู้ชายเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช้ความรุนแรง อาทิ การเลิกเหล้าเพื่อป้องกันความรุนแรง รับผิดชอบครอบครัว เลี้ยงลูก ดูแลลูกได้ ผู้ชายต้องให้เกียรติผู้หญิง ไม่มองว่าเป็นสมบัติของตัวเอง ภายใต้สโลแกน ‘แค่เลิกคิดชายเป็นใหญ่ สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้ในครอบครัว’ ” ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวทิ้งทายถึงเพศชาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 15-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก