สสส.หนุนตำบลน่าอยู่ ด้วยโปรแกรม TCNAP
พร้อมจัดอบรมความรู้สู่ 30 ต.ต้นแบบ
“ตำบลน่าอยู่ คือ ตำบลที่ประชาชนในพ้นที่มีสุขภาวะที่ดี”
“ตำบลน่าอยู่ คือ ตำบลที่มีเมื่อได้มาเยือนแล้ว สามารถสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ความปลอดภัย”
“ตำบลน่าอยู่ คือ ตำบลที่สามารถบริหารการใช้ทรัพยากรได้เป็นอย่างดี”
หากพูดถึง “นิยาม” ของคำว่า “ตำบลสุขภาวะ” หรือ “ตำบลน่าอยู่” หลายคนคงจินตนาการคำว่า “น่าอยู่” ให้เป็นไปในแบบที่ตนเองอยากให้เป็น ให้สวยงาม สงบ และน่าอยู่ แต่!จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าตำบลของตนเองนั้นมี “จุดอ่อน” ตรงไหนที่ต้องปรับและมี “จุดแข็ง” ตรงไหนที่ต้องเสริม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นตำบลน่าอยู่
เชื่อได้ว่า หลายคนเมื่อได้ยินคำถามนี้คงพากันส่ายศีรษะ พร้อมกับบอกว่า “ไม่รู้” อันเนื่องมาจากการที่ไม่มี “ข้อมูล” ที่เกี่ยวข้องกับประชากรและชุมชนของตนเองอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ด้วยเหตุนี้โครงการเสริมพลังการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายแก้วิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการพัฒนาระบบข้อมูล โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีชื่อว่า thailand community network appraisal program หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า tcnap ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในด้านการจัดเก็บข้อมูลตำบลที่มีประสิทธิภาพผ่านแบบสอบถาม พร้อมคีย์ข้อมูลผ่านโปรแกรมเพื่อวิเคราะห์และประมวลผลจุดอ่อนและจุดแข็งของตำบล โดยข้อมูลทั้งหมดจะออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลให้คนในพื้นที่นำไปต่อยอด และให้คนในพื้นที่อื่นเข้ามาแลกเปลี่ยนรู้ และเริ่มนำร่องทดลองใช้โปรแกรม tcnap ในพื้นที่ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาน์ส จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 5-6-7 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้นำทีมนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ และนักพัฒนาระบบข้อมูลจากอีก 30 ตำบลมาร่วมศึกษาทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันอีกด้วย
ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับโปรแกรม tcnap กันก่อนว่ามีกระบวนการทำงานเช่นไร ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.พีระพงษ์ บญสวัสดิ์กุลชัย ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นสู่ตำบลสุขภาวะ ในพื้นที่อีสานใต้ ก็ได้ออกมาเล่าให้ฟังว่า โปรแกรม tcnap เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูล โดยมีวิธีการทำงานที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนแรกนั้น ก็คือการให้นักวิชาการ เจ้าหน้าที่และชาวบ้านตำบล ร่วมกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยมีแบบสอบถามให้ 2 ชุด คือ แบบสอบถามในระดับบุคคลและครอบครัว ที่ต้องลงไปเก็บข้อมูลตามจำนวนหลังคาเรือนในพื้นที่นั้น ๆ ส่วนแบบสอบถามในระดับกลุ่มและชุมชนนั้น จะเป็นการเก็บข้อมูลจากการรวมกลุ่มพูดคุยกับแกนนำชุมชน และผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน
“เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แบบสอบถามในและชุดก็จะประกอบไปด้วยคำถามที่มีความครอบคลุมครบทั้ง 7 มิติ คือ 1.ข้อมูลด้านทุนที่แสดงถึงศักยภาพของพื้นที่ อาทิ แกนนำ คนเก่ง คนสำคัญ องค์กร เงิน และทรัพยากร 2.ข้อมูลด้านการสื่อสาร อาทิ ช่องทางการสื่อสาร 3.ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ อาทิ พฤติกรรมเสี่ยง และปัญหาการเจ็บป่วย 4.ข้อมูลด้านประชากร อาทิ จำนวนประชากร การเกิด การตาย และการศึกษา 5.ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการขยะ การใช้พลังงานทดแทน 6.ข้อมูลด้านเศรษฐกิจชุมชน อาทิ อาชีพหลัก อาชีพเสริม และหนี้สิน และ 7.ข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง อาทิ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสวนรวม เป็นต้น” ผศ.พีระพงษ์ เล่าอธิบาย
การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในระดับบุคคลและครอบครัว
การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในระดับกลุ่มและชุมชน
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็สามารถคีย์ลงในโปรแกรม tcnap เพื่อเข้าสู่กระบวนการบันทึกข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล จากนั้นโปรแกรมจะทำการวิเคราะห์และประมวลผลศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลที่พร้อมสำหรับการนำไปใช้ประโยชนต่อไป…
ขณะที่ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ หรือ พี่ด้วง ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน ได้บอกเอาไว้ว่า แนวคิดของการจัดเก็บข้อมูลจะเน้นไปที่กระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐและประชาชน ในการเรียนรู้ จัดการ และนำใช้ข้อมูล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตำบลให้ตรงจุด เพราะการจะก้าวสู่การเป็นตำบลน่าอยู่ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยอาศัยฐานข้อมูลที่เป็นความจริง และฐานข้อมูลที่เป็นความรู้ มาหักล้างกัน เพื่อให้ได้ความจริงที่สุด ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลด้วยโปรแกรม tcnap ปีละ 1 ครั้ง จะช่วยให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของพื้นที่ และหลังจากทั้ง 30 ตำบลต้นแบบทั่วประเทศ ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของโปรกรม tcnap แล้ว ก็มีการตั้งเป้ากันว่า จะดำเนินการเก็บข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2553 นี้ และตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะมีฐานข้อมูลตำบลต้นแบบให้ได้ 500 แห่งภายในปี 2554 อีกด้วย
ทีนี้ลองมาฟังเสียงคนใช้ดูบ้าง…เริ่มจากนายวุฒิพงษ์ ศรีศิลป์ ตัวแทนจากตำบลถืมตอง จังหวัดน่าน ที่บอกว่า ตำบลน่าอยู่ในมุมมองของตัวเองนั้น คือการที่ประชาชนในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข มีเวทีในการแสดงออกมีการปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบของกิจกรรม รวมถึงมีการพูดคุยกันมากภายในชุมชนมากขึ้น ซึ่งในจุดนี้เชื่อว่า โปรแกรม tcnap จะสามารถตอบโจทย์ได้ เพราะจากการเข้าร่วมศึกษา ทำความเข้าใจ และทดลองใช้ พบว่า โปรแกรมนี้มีรายละเอียดที่ลงลึกทั้งในเชิงบุคคล ครอบครัว และชุมชน ที่ทำให้รู้ว่าในแต่ละชุมชนมีต้นทุนในด้านไหน ต้องการอะไร ขาดอะไร เพื่อที่จะสามารถทำแผนแม่บทให้ออกมาสอดคล้องกับปัญหาของชุมชนมากที่สุด
ขณะที่ตัวแทนจากเทศบาลไทรย้อยอย่างนายสมหมาย สมสุข ก็ได้บอกไว้ว่า สำหรับตัวเองแล้ว คำว่าตำบลน่าอยู่ หมายถึง การที่ตำบลนั้นมีสังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี และทุกคนตำบลมีส่วนร่วมในกิจกรรมและการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งจากการได้ทดลองใช้งานแบบสอบถามทั้งสองชุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม tcnap นั้น พบว่า โปรแกรมตัวนี้จะช่วยให้เรารู้ต้นทุของตำบลแต่ละแห่งว่ามีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหน สิ่งไหนที่ควรปรับเปลี่ยน และสิ่งไหนที่ควรไปเสริมให้แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยร่นระยะเวลาในการประเมินผล และวิเคราะห์ข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่อีกด้วย
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ team content www.thaihealth.or.th
update 16-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์