สสส. สานพลัง กลุ่ม we!park สร้างพื้นที่สุขภาวะ ปลุกเมืองสุขภาพดี ด้วยเราทุกคน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เริ่มแล้ว! Active City Forum กิจกรรมปลุกเมือง อยู่ดี ไม่มีโรค สสส. สานพลัง กลุ่ม we!park สร้างพื้นที่สุขภาวะ มุ่งยกระดับวิถีชีวิตกระฉับกระเฉงทั่วถึง เท่าเทียม ณ เอ็มสเฟียร์ ตลอด 3 วัน 21-23 มี.ค. 68 เปิดประสบการณ์ฟรี ร่วมสร้างสุขภาพดีไปพร้อมกัน
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2568 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่าย จัดงาน “Active City Forum : Activate city for healthier Life ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ด้วยเราทุกคน” พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต้นแบบ นำไปสู่การกระตุ้นเมืองเพื่อสุขภาพของไทยอย่างสร้างสรรค์ ภายในงาน มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ Public Tour สำรวจเมือง 3 เส้นทาง (ทางเรือ ทางน้ำ และการเดินเท้า) นิทรรศการเมืองแห่งการมีส่วนร่วม และกิจกรรมสร้างเครือข่าย ตลอดทั้ง 3 วัน 21-23 มี.ค. 2568
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ไทยก้าวเข้าสู่การเจ็บป่วยยุคใหม่ คือเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ส่งผลให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามูลค่ามหาศาล ซึ่ง 1 ในพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ คือ การไม่ขยับเคลื่อนไหวร่างกายหรือมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ คนไทยมีสถิตินั่งนาน 13 ชั่วโมงต่อวัน การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะจึงเป็น 1 ยุทธศาสตร์เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สสส. กำหนดนโยบายส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ครอบคลุมหลายมิติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พัฒนาพื้นที่สาธารณะ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ อาทิ ‘สวน 15 นาที’ พื้นที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน ‘สวนสาธารณะ’ พื้นที่ปลอดเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและหัวหน้าโครงการ we!park กล่าวว่า ปัจจัยในการพัฒนาเมืองสุขภาวะคือเรื่องการออกแบบ ปัญหาภูมิอากาศที่แปรปรวน ฝุ่น PM2.5 ทางเท้าไม่เรียบ พื้นที่สีเขียวมีน้อย สะท้อนได้ว่าการออกแบบเมืองไม่เอื้อให้ขยับร่างกายในทุกๆ มิติ การจัดงานครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเมืองจาก 5 เมืองต้นแบบ ได้แก่ โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) สิงคโปร์ โตเกียว มาเลเซีย และอังกฤษ เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองสุขภาพดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญจากด้านสุขภาพ การออกแบบ การพัฒนาเมือง ภาครัฐและภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ วิทยากรจากเมืองชั้นนำของเอเชีย ยุโรปในงานเดียวกัน เพื่อร่วมระดมความคิดเห็น บูรณาการองค์ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ และค้นหาแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต เพราะการมีสุขภาพดีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เปิดโอกาสให้ทุกคน เข้าร่วมฟรี ติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ticketmelon.com/thaimice และเฟซบุ๊ก wecreatepark
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยทุกกลุ่มมีภาวะเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น พบคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6% ในปี 2562 เหลือเพียง 55.5% ในปี 2563 ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ตกงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงสุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนวัยเรียน มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ซึ่ง 2 ใน 3 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว เพิ่มอัตราผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพของประเทศ