สสส. สานพลังภาคี เปิดเวทีประชุมวิชาการ “เปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วยจิตวิทยาสติ” หนุนนำนวัตกรรมพัฒนาเยาวชนทุกระดับ ให้มีสุขภาวะทางปัญญาที่ยั่งยืน

ที่มา: ประชุมวิชาการ “Changing Education with Mindfulness Psychology: เปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วยจิตวิทยาสติ” 

                    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้  และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการ “Changing Education with Mindfulness Psychology: เปลี่ยนแปลงการศึกษาด้วยจิตวิทยาสติ” ภายใต้โครงการจิตวิทยาเพื่อพัฒนาเยาวชน โดยมุ่งหวังพัฒนาบุคลากรในสถาบันการศึกษาและเยาวชนให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล และมีภูมิคุ้มสุขภาวะทางปัญญาด้วยจิตวิทยาสติที่เข้มแข็ง

                 นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา โดยเฉพาะในองค์กรและสถาบันการศึกษา จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา ดำเนินโครงการจิตวิทยาเพื่อพัฒนาเยาวชน มุ่งพัฒนาคุณภาพทางด้านสติและปัญญาให้กับบุคลากรและนักเรียนในทุกระดับชั้น โดยใช้แนวคิดการสร้างองค์กรแห่งความสุข 8 มิติ โดยเฉพาะ Happy Soul ที่ส่งเสริมและสนับสนุุนให้คนทำงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต มีศักยภาพในการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงตนเองกับสังคมและโลก มีความมั่นคงภายในสามารถวางจิตวางใจได้อย่างถููกต้อง คิดดี คิดเป็น และเห็นตรง ช่วยให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุุล เป็นปกติสุุขทั้งกายและใจ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ  ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ช่วยให้จิตเป็นอิสระท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรต่างๆ”

                    “นวัตกรรมจิตวิทยาสติ (Mindfulness) เป็นเครื่องมือที่ใช้พัฒนาสุขภาวะทางปัญญาสำหรับทุกคน ไม่จำกัดเพศและอายุ สสส. สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา นำเครื่องมือจิตวิทยาสติไปประยุกต์ใช้ทั้งในและนอกระบบการเรียนรู้ โดยบูรณาการเข้ากับทุกรายวิชา หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงประสบการณ์การพัฒนาสติโดยตรงและไร้รอยต่อ ส่งเสริมดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่โอบอุ้มทางจิตวิญญาณ ทั้งการทำงานด้วยการมีมิตรไมตรี การสื่อสารอย่างมีสติทั้งในห้องประชุมและในห้องเรียน นำไปสู่การลดลงของอาการเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงาน เพื่อให้ครูมีความสุขในการสอน นักเรียนมีความสุขในห้องเรียน” นางญาณี กล่าว

                 น.พ.ยงยุทธ  วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลักสูตรจิตวิทยาสติจัดทำขึ้นเพื่อมุ่งสร้างเสริมให้บุคลากรทุกคนในสถาบันการศึกษามีสุขภาวะทางจิตที่ดี มีรูปแบบการเรียนรู้ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สติกับการเรียนรู้พัฒนาตน 2.สติในทีมสัมพันธภาพและการทำงานร่วมกัน 3.สติกับการพัฒนาองค์กร ที่ผ่านมา มีบุคลากรด้านการศึกษาร่วมโครงการ 1,120 คน ครอบคลุมไปถึงเยาวชนทุกระดับ 13,118 คน เกิดการขยายผลไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 35 แห่ง ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ถูกยกระดับเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้จิตวิทยาสติต้นแบบและมหาวิทยาลัยต้นจิตวิทยาสติต้นแบบด้านการสร้างสุขภาวะทางปัญญาด้วยจิตวิทยาสติ 7 แห่ง เกิดค่านิยมร่วมสร้างองค์กรแห่งความสุขอย่างยั่งยืน

                 ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า ประชากรไทยในกลุ่มครูและนักเรียนกำลังเผชิญกับปัญหาความเครียด ป่วยซึมเศร้า สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจ  มีความสัมพันธ์ในครอบครัว คนใกล้ชิด รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่น้อยลง ธนาคารจิตอาสา จึงร่วมกับ สสส. ผลักดันให้สถาบันการศึกษานำเครื่องมือจิตวิทยาสติไปปลดล็อกความทุกข์และสร้างความสุขให้แก่ทุกคนในองค์กร ผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มความสุขประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งรวมเครื่องมือและความรู้ด้านจิตวิทยาสติที่หลากหลาย ครูสามารถหยิบเครื่องมือไปบูรณาการเข้ากับวิชาการสอน ก่อให้เกิดนวัตกรรมส่งเสริมการฝึกสติในระดับหน่วยงานที่ครูและนักเรียนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงและใช้งานได้จริง สามารถดูรายละเอียดเครื่องมือและองค์ความรู้จิตวิทยาสติได้ที่เว็บไซต์ www.happinessisthailand.com

                 นางจารุปภา วะสี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันครูและนักเรียนมีสภาวะหมดไฟในการเรียนและการทำงาน (Burn Out) และเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย การส่งเสริมให้บุคลากรในสถาบันการศึกษาทุกคนมีสุขภาวะทางปัญญาที่ดี โดยเฉพาะในมิติจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ การสร้างพลังงานบวกในการใช้ชีวิตของครูและนักเรียนใน 4 ด้าน 1.การเรียนรู้ 2.การทำงานเป็นทีม 3.การอยู่ร่วมกันในสังคม 4.ความรักและความเมตตา จะก่อให้เกิดความตระหนักรู้ในการมีสุขภาวะทางปัญญาที่ดีครอบคลุม 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา และสังคม นำไปสู่การมีจำนวนครูและนักเรียนที่มีสติในการใช้ชีวิตและมีความสุขเพิ่มขึ้นต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code