สสส. สานพลังภาคี ลดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงข้อมูลกลุ่มเปราะบาง คนไทยกว่า 8 ล้าน เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เหตุไร้โอกาสเรียนรู้

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    อึ้ง คนไทยกว่า 8 ล้านคน เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เหตุ ไร้โอกาสเรียนรู้ สสส. และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ สานพลังภาคีเครือข่าย เผยผลวิจัย จัดเวทีถกปัญหา เตรียมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย กำหนดการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ เป็นวาระแห่งชาติ รองรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

                    เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมเมอร์เคียว ไอบิส สยาม กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดเวทีเสวนา “เราจะร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และสร้างเสริมสุขภาวะได้อย่างไร” มุ่งเป้าสนับสนุนให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ)

                    นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมคำนึงถึงการลดช่องว่างทางดิจิทัลในการเข้าถึงองค์ความรู้และฐานข้อมูลการสร้างเสริมสุขภาพได้ง่าย และการเท่าทันต่อการคุกคามและความปลอดภัยทางดิจิทัลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นกรอบนโยบายในการจัดทำแผนการดำเนินงาน สสส. โดยมุ่งเน้นการสร้างการเรียนรู้ การสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพ และการจัดการที่รองรับการเปลี่ยนแปลงอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สภาพแวดล้อม และสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพในยุคดิจิทัล จากรายงานจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทย เมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 โดยเว็บไซต์ Datareportal พบอยู่ที่ 63.21 ล้านคน หรือ 88% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 71.85 ล้านคน และผู้เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต 8.61 ล้านคน หรือ 12% สะท้อนถึงแนวโน้มของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม เกิดความไม่เสมอภาคเนื่องจากขาดโอกาสในการเข้าถึงดิจิทัล

                    “การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมด้วยการเสริมสร้าง เชื่อมโยง และเสริมพลังเครือข่าย ผลักดันให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทุกภาคส่วน กำหนดให้การขับเคลื่อนงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเป็นวาระแห่งชาติ อาทิ ส่งเสริมและสร้างมาตรฐานการเข้าถึงและใช้งานดิจิทัล เว็บไซต์ต้องเข้าถึงได้โดยคนพิการ ระบบบริการดิจิทัลต้องมีมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในการเข้าถึงและใช้ดิจิทัล ศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ กองทุนช่วยเหลือเพื่อการเข้าถึงและ
ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งคนพิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” นางญาณี กล่าว

                    ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) พบว่า ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำหรือความเสมอภาคทางดิจิทัล 9 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่าย 2.ด้านอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาย่อมเยาเข้าถึงได้ 3.เนื้อหาข้อมูลสำหรับคนทุกกลุ่มตามความต้องการจำเป็น 4.การพัฒนาทักษะดิจิทัล 5.การลดข้อจำกัดของปัจจัยระดับบุคคลเพื่อเข้าถึงดิจิทัล 6.การส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เข้าสู่ดิจิทัล 7.นโยบายของรัฐ 8.เครื่องมือทางกฎหมาย และ 9.ความร่วมมือกับนานาชาติ จึงได้พัฒนา “4A 1E” ช่วยให้ทุกคนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้แก่ Accessibility การเข้าถึงดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และเนื้อหาข้อมูล/สื่อ Affordability ความสามารถในการจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส Attitude ทัศนคติต่อการใช้ Ability ความสามารถในการใช้ดิจิทัล ปลอดภัย สร้างสรรค์ และรู้เท่าทัน และ Ecosystem นิเวศสื่อดิจิทัล ทั้งนโยบายส่งเสริมหรือกำกับดูแล กฎหมาย นวัตกรรม การวิจัย การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ สร้าง Digital Inclusion คือสังคมที่ทุกคน รวมถึงกลุ่มคนพิการ ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางได้รับประโยชน์จากดิจิทัล

                    ดร.ศรีดา กล่าวต่อว่า แม้ในแผนแม่บท นโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติหลายฉบับจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเสมอภาคทางดิจิทัล หลักการออกแบบสินค้าและบริการเพื่อทุกคนเข้าถึงและใช้ได้อย่างเท่าเทียม เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) แม้หน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ เร่งดำเนินการเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล แต่พบว่ายังมีอุปสรรคและข้อท้าทายอีกมาก ซึ่งงานวิจัยนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายหลายข้อ ภายใต้หลักการ 1.เป็นวาระแห่งชาติ มีการติดตามประเมินผล หนุนเสริม และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว 2.เป็นเป้าหมายทางการเมือง นโยบายดิจิทัล/ไอซีทีถ้วนหน้า โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน ติดตามการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผล 3.เชื่อมโยงส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น กำหนดในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด/พื้นที่ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน วัดผลได้จริง 4.ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินและการคลัง เพื่อจัดสรรงบประมาณ ตอบสนองสถานการณ์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงเร็ว 5.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม 6.ส่งเสริมให้เป็นเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) ให้องค์กรและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วม เป็นเรื่องประโยชน์ของทุกคน

                    ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภา DCT กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลคือ การสร้างโอกาส และส่งเสริมให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเข้าถึงบริการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และปลอดภัย สิ่งสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน พัฒนาระบบการให้บริการและเครื่องมือในการเข้าถึงตามกรอบมาตรฐานที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Websites & Mobile Apps Accessibility Guidelines) ที่ผ่านมา สภาดิจิทัล ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ (Digital Vaccine) พัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อว่า ARAK Internet Security ช่วยสร้างกระบวนการและแนวทางปฎิบัติเพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ลดภาระการลงทุนในซอฟแวร์ต่างประเทศ ขยายผลนำไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เทคโนโลยีดำเนินชีวิตได้อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ


                    นายพฤฒิพงศ์ พัวศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาคลังความรู้ กองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สดช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สดช. มีเป้าหมายเป็นรายยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้มีการดำเนินงานในปี 2566 ได้แก่ การให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไปยังหมู่บ้านหรือโรงเรียน การพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขเพื่อบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพ การพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชนและอาสาสมัครดิจิทัล การสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลประเทศไทย กิจกรรมอบรมยกระดับสมรรถนะประชากรเพื่อให้พร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนพิการ การส่งเสริมและฝึกอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ให้กับบุคลากรของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อมุ่งหวังการลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

                    น.ส.พรนิภา อ่อนเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า พม. มุ่งยกระดับความสามารถในการเข้าถึง การใช้งาน และการตระหนักถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มดิจิทัลของผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนา 2 โครงการ 1.โครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ อุ่นใจไซเบอร์ สื่อการเรียนรู้สุขภาวะดิจิทัล การจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ส่วนบุคคล การจัดการความเป็นส่วนตัว และการจัดการร่องรอยทางไซเบอร์ 2.โครงการสูงวัยรู้ทันสื่อ หลักสูตรออนไลน์ หยุด คิด ถาม ทำ ลดอาชญากรรมทางออนไลน์ 3. โครงการส่งเสริมความร่วมมือเข้มแข็งด้านเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ วัยไฟแรงแซงอายุ ต่อยอดพลัง Soft Power สู่ผู้ประกอบการดิจิทัล อบรมกลุ่มผู้สูงอายุสู่ผู้ประกอบการดิจิทัล โดยการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ทางดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ของผู้สูงอายุ มุ่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและสร้างสรรค์ต่อสังคม

Shares:
QR Code :
QR Code