สสส. สานพลังภาคี รณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” มุ่งสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย หลังพบมีผู้ถูกฉวยโอกาสลวนลาม 84.9%
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สงกรานต์นี้ พม. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สสส. และภาคี ชวนสังคมร่วมรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” สังคมไทยต้องปลอดภัยจากการคุกคาม เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ทุกพื้นที่ต้องปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เผยคนไทยไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เหตุกลัวถูกลวนลามมากกว่า 30% ด้านสสส. ชวนคนไทย “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายมีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ เปิดสถิติสงกรานต์ปี 66 รถชนตายคาที่สูง 53.4% เหตุขับขี่เร็ว แถมดื่มแล้วขับ ทำขาดสติ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 เม.ย. 67 ที่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเปิดจัดกิจกรรมรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ” ว่า ตามที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดย ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดกิจกรรม “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” ตั้งแต่วันที่ 1 – 21 เม.ย. 2567 ทั่วประเทศ ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลที่เน้นความสนุกสนาน และมักมีการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท และการคุกคามทางเพศ
“พม. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมายโดยเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ ให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างก็มีความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยกันสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน และร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบกับปัญหาเหล่านี้ และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์ ลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่าง ๆ และรณรงค์ต่อเนื่องในทุก ๆ วัน ไม่เฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น” ปลัด พม. กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า “ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 264 คน ลดลง 14 คน จากปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 278 คน ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตลดจาก 16.5% ในปี 2565 เหลือ 10.6% ในปี 2566 สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่ลดลงจาก 56.8% ในปี 2565 เหลือ 53.4% ในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที นอกจากนี้ข้อมูลการสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,725 คน ระหว่างวันที่ 24 – 30 มี.ค. 2566 เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า 96.5% เคยถูกปะแป้งที่ใบหน้าหรือร่างกาย 87.9% ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมองทำให้อึดอัด 85.7% เคยถูกฉวยโอกาสลวนลาม 84.9% เกิดอุบัติเหตุ 82.4% ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 73.8% ทะเลาะกันในครอบครัว ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างระบุว่าสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5% อุบัติเหตุ 22.5%”
“สงกรานต์ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง มีสติ มีขอบเขตและการเคารพสิทธิ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ากว่า 60 แห่ง โดยขอฝากทุกคนว่า “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการทำลายสมอง” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,011 คน พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 66.09% ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เพราะต้องการพักผ่อน อากาศร้อน ขณะที่ 14.19% ที่ไม่เล่นเพราะกลัวถูกลวนลาม ซึ่งมีบางส่วนเคยถูกลวนลาม กลุ่มที่เคยเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79% (กลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุดถึง 76.77%) ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 32.43% พฤติกรรมที่พบมากที่สุดคือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45% ถูกสัมผัสร่างกาย 37.19% ถูกจับแก้ม 34.47% ใช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45% ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54% และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่นๆ ที่เกินเลย 16.55% ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง “รับรู้” ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา 92.10%
“เมื่อสอบถามว่าในปี 2567 นี้จะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์หรือไม่ 48.49% รอดูสถานการณ์/การจัดงาน/กิจกรรม และไม่ออกแน่นอน ร้อยละ 37.70% โดยกังวลเรื่องอันตราย/อุบัติเหตุมากที่สุด 85.06% การจราจรติดขัด 52.03% น้ำไม่สะอาดและโรคที่มากับน้ำ 47.12% สภาพอากาศร้อนและโรคที่มากับความร้อน 43.72% การดื่มสุรา/น้ำกระท่อมทำให้ขาดสติ แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท 40.22% และการล่วงละเมิดทางเพศ 34.13%” ดร.ณัฐพล กล่าว
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ ให้ระมัดระวังตนเองขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์ 24.33% มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจนและรุนแรงขึ้นกับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น 15.97% เพิ่มเจ้าหน้าที่คอยดูแลและควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดและทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงให้ภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแล 11.04% รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น 10% หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่มีคนหนาแน่นและเสี่ยงที่จะถูกลวนลาม 8.06% จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี และให้คนรุ่นใหม่รักษาและสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม 7.01%
ทั้งนี้ กิจกรรมในวันนี้ มีการปล่อยขบวนสามล้อรณรงค์มีป้ายแสดงข้อความเพื่อประชาสัมพันธ์การรณรงค์ว่า ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ การเคารพให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดภัย โดยขบวนสามล้อรณรงค์ในเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียงไปตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้