สสส.สานต่อโครงการสื่อพื้นบ้าน

เน้น เยาวชนได้ประโยชน์สูงสุด

 

 

          การฟื้นฟูวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งที่คนในชาติควรให้ความสำคัญ แม้อาจจะต้องสวนทางกับกระแสความเจริญในโลกยุคใหม่ก็ตาม ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องอนุรักษ์วัฒนธรรม

สสส.สานต่อโครงการสื่อพื้นบ้าน 

          ทั้งนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำโครงการขับเคลื่อนสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน ที่ดำเนินกิจกรรมมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในช่วงปีที่ผ่านมามีชุมชนท้องถิ่นจากทั่วประเทศนำเสนอโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยงบประมาณและระยะเวลาจึงมี 28 โครงการที่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับการสนับสนุน โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการนำคนในชุมชนของแต่ละท้องถิ่นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน

 

          “อ.ดนัย หวังบุญชัย” ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรม สสส. และ “ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี” ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานทุนอุปถัมภ์ สสส. ให้สัมภาษณ์ว่า “สื่อพื้นบ้านเป็นเหมือนวิธีการสื่อสารที่จะเข้าถึงตัวชาวบ้านได้ง่ายแสดงถึงรากเหง้าของคนแต่ละชุมชน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังช่วยเสริมสุขภาวะซึ่งมีอยู่ 4 ตัว คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ สติปัญญา และสังคมซึ่งสื่อพื้นบ้านจะช่วยให้มีสุขภาวะครบทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องสติปัญญาและสังคม เพราะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดให้เกิดความฉลาดขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน โดยโครงการดังกล่าวเป็นการเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น เพราะการทำกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมจะต้องมีผู้สูงวัยมาช่วยแนะนำถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนเพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นใหม่ เชื่อมความรักความสามัคคีของครอบครัวและชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก

 

          สำหรับสื่อพื้นบ้านมีอยู่หลายอย่างค่อนข้างกว้างมาก ทั้งเรื่องการแสดงศิลปวัฒนธรรม งานจักสาน พิธีกรรมต่างๆ ไปจนถึงวัตถุสิ่งของเครื่องใช้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ

 

          โครงการนี้เรามองเห็นประโยชน์มากมายที่เกิดขึ้น สสส.จึงเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยแต่ละโครงการเราได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านโรงเรียน ชุมชน หมู่บ้าน โดยโครงการจะต้องมีการผลักดันให้มีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่วนคนเก่าจะพัฒนาขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยง และกิจกรรมสามารถเข้าถึงกลุ่มเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เด็กซิ่ง เด็กแว้น เด็กหลังห้อง เด็กติดยา อีกทั้งโครงการนี้เรายังสนับสนุนผ่านศิลปินพื้นบ้าน นักวิชาชีพ ซึ่งคนที่เราอยากให้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือเยาวชน

 

          ส่วนศิลปินที่เข้าร่วมต้องมองเป็นจิตอาสาอยากถ่ายทอดและให้เกิดการสืบทอดต่อ โดยเราจะมีการวัดประเมินผลในเชิงคุณภาพ และปรับแก้ไขไปตลอดทั้งโครงการ เพื่อให้แต่ละโครงการเกิดประโยชน์สูงสุด โดย สสส.ให้การสนับสนุน โดยเราเป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเริ่มต้น และช่วยสนับสนุนให้เขาสามารถพัฒนาตนเองได้ และท้ายสุดคืออยู่อย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่เราอยากเห็นคือผู้สนับสนุนหลัก คือคนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมมือและสนับสนุนต่อไป

 

          แต่การดำเนินโครงการขับเคลื่อนสื่อพื้นบ้านฯ ก็มีปัญหาอุปสรรคตรงที่ยังมีหลายคนที่ไม่เห็นถึงความสำคัญ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เข้ามาเบียดบังจนทำให้สื่อพื้นบ้านลดความสำคัญลง ซึ่งถ้าเราไม่ทำกิจกรรมกระตุ้นเตือน อีกหน่อยสื่อพื้นบ้านก็จะค่อยๆ หายไป เราคาดหวังว่าโครงการที่ทำขึ้นนี้จะช่วยให้สื่อพื้นบ้านอยู่คู่กับชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติ กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน

 

          ไม่ใช่เป็นการไปจัดการสร้างขึ้นหรือกำหนดให้คนในท้องถิ่นเดินตามสิ่งที่มีผู้แสวงหาผลประโยชน์ต้องการให้เป็น อย่างเช่นวิถีชีวิตชุมชนบางแห่งที่มีภาคเอกชนเข้าไปจัดการปรุงแต่งเพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ อันนี้จะไม่เรียกว่าสื่อพื้นบ้าน”

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

update:14-06-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ