‘สสส.-สถาบันอาศรมศิลป์’ร่วมสร้างพื้นที่สุขภาวะ

/data/content/26715/cms/e_eimsvy234789.jpg


          สสส.-สถาบันอาศรมศิลป์ ต่อยอดพัฒนาพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะ ชู “กิจกรรมทางกาย-สุขภาพจิตดี-ปฏิสัมพันธ์ดี-อาหารปลอดภัย” ยกระดับคุณภาพชีวิต


          เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานระพีเสวนา ครั้งที่ 8 เรื่อง Healthy Space “พื้นที่สุขภาวะ..เพี่อชุมชน” ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันอาศรมศิลป์ได้ดำเนินการจัดกระบวนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยได้รวบรวมฐานข้อมูลสุขภาวะในแต่ละพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมและเป็นระบบ นำไปสู่การขยายผลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่


/data/content/26715/cms/e_dehmnpruvw45.jpg


          นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอประสบการณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานพื้นที่สุขภาวะ เพื่อเป็นการทบทวนและแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านของการทำงานในเชิงพื้นที่ชุมชน เพื่อเป็นการขยายความรู้ ความเข้าใจในการทำงานพื้นที่สุขภาวะกับหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษา ที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้การทำงานพื้นที่สุขภาวะให้กว้างขวางออกไปในอนาคต


/data/content/26715/cms/e_abcfjlnosz58.jpg


          ขณะที่ ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า พื้นที่สร้างสรรค์ หรือพื้นที่สุขภาวะ (healthy space) คือการสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศวัยทุกกลุ่ม สามารถสร้างความรู้สึกร่วมและความผูกพันของชุมชน ดังนั้น พื้นที่สุขภาวะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลอย่างสูงต่อสุขภาวะ ความเป็นอยู่ของประชาชน งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าพื้นที่สุขภาวะจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) สุขภาพจิตที่ดี (Mental Health) ปฏิสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ (Social Cohesion/ Inclusion) และสัมพันธ์อย่างสูงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย (Healthy Eating) ของประชาชน 


/data/content/26715/cms/e_defipvwxz368.jpg


          ดร.วิลาสินี กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนต่อไปได้ในทุกมิติ ทั้งทางสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่ง สสส.มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะ ทั้งในกลุ่มองค์กร หรือชุมชน อย่างน้อย 20 พื้นที่/องค์กรทั่วประเทศ ภายใน 1 ปี รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคีระดับพื้นที่ ชุมชนและองค์กร ได้ร่วมขยายงานพื้นที่เรียนรู้สุขภาวะ


/data/content/26715/cms/e_dijlmtvx3789.jpg


          ด้านนายวีรวัฒน์ วรายน อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมศาสตรเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า สถาบันอาศรมศิลป์ได้จัดทำหลักสูตรสำรวจชุมชนเพื่อสุขภาวะ ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่สุขภาวะ เป็นการออกแบบพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เช่น ย่านเยาวราชที่อยู่ในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ชุมชนริมน้ำจันทบูร เทศบาลเมืองกาญจนบุรี ชุมชนเพิ่มดีพัฒนา กทม.ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะงานในเชิงพื้นที่ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล พร้อมกับเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ร่วมกันกับชาวบ้านอย่างมีส่วนร่วม


/data/content/26715/cms/e_adefijmtuyz7.jpg


          นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังบูรณาการแนวคิดการพัฒนาพื้นที่กับหลักสูตร สำรวจชุมชนเพื่อสุขภาวะมาบรรจุอยู่ในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม โดยเน้นให้นักศึกษาที่ส่วนมากเป็นแกนนำชุมชน หรือผู้ทำธุรกิจในชุมชน มีทักษะความรู้ในการใช้เครื่องมือและกระบวนการทางสถาปัตยกรรม สำรวจและบันทึกข้อมูลชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ในมิติต่างๆ


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code