สสส.-สคล.-กทม.เดินหน้ารณรงค์ทอดกฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า
สสส.-สคล.-กทม.เดินหน้ารณรงค์ทอดกฐิน-ผ้าป่าปลอดเหล้า สั่ง 50 เขตในกรุงเทพฯ จัดงานบุญปลอดน้ำเมา พร้อมดึงกฎหมายห้ามดื่มบนรถ ห้ามขายห้ามดื่มในวัดบังคับใช้ ด้าน“ศิลปินแห่งชาติ”วอนรักษาประเพณีวัฒนธรรมแทนการดื่มน้ำเมา ขณะที่“สคล.” ชี้ งานปลอดเหล้า ช่วยเซฟค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาท
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานแถลงข่าว “งานบุญ ประเพณีปลอดเหล้า..ชาว กทม.ทำได้ (ใช้กฎหมายเป็นตัวช่วย)” เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนทำบุญออกพรรษาทอดกฐิน–ผ้าป่า ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดโดย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)
พญ.มาลินี กล่าวว่า หลังเทศกาลออกพรรษาจะมีการจัดทอดกฐิน ผ้าป่า ทั่วทุกภาค ชาวบ้านบางกลุ่มยังนิยมดื่มเหล้าระหว่างเดินทาง ภายในงาน และภายในเขตวัด ทำให้งานบุญประเพณีอันดีงามต้องมัวหมองกับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เกิดภาพลักษณ์ไปในทางที่ไม่ดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มสุราในงานบุญ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสิ้นเปลืองแล้ว ยังช่วยลดปัญหาอื่นตามมา เช่น หนี้สิน สุขภาพ ปัญหาครอบครัว อาชญากรรม นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลบุญ กทม.จึงร่วมกับ สสส.และสคล. เร่งรณรงค์โดยอาศัยกฎหมายมาช่วยสนับสนุน คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27 และ 31 ที่ห้ามขายห้ามดื่มสุราในวัดหรือศาสนสถาน รวมถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามดื่มสุราบนรถทุกชนิด ซึ่งทั้งสองมาตรการมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหลังจากนี้จะประสานไปยังสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขตให้ประชาสัมพันธ์กฎหมายและเชิญชวนประชาชนให้จัดงานบุญทอดกฐิน ผ้าป่าปลอดเหล้า
“เราต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับรู้ข้อกฎหมายห้ามดื่มสุราบนรถ และเกิดการบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น เห็นได้จากตัวอย่างของต่างประเทศ อาทิ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ที่ประกาศใช้กฎหมายห้ามดื่มสุราบนยานพาหนะ พบว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ก็ยืนยันว่า ประเทศที่มีกฎหมายนี้ ทำให้มีคนเสียชีวิตน้อยกว่าพื้นที่ที่ไม่มีกฎหมาย” พญ.มาลินี กล่าว
นายชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า การทอดกฐิน ผ้าป่าถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ เพราะในปีหนึ่งแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว และมีกำหนดเวลาในการทอดเพียง1เดือน อีกทั้ง คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับงานทอดกฐิน ผ้าป่า เพราะได้เข้าวัดทำบุญ ซึ่งควรร่วมกันรักษาวัฒนธรรมวิถีความงดงามในอดีตแบบนี้ไว้ และอานิสงส์จากการทอดกฐินโดยที่ไม่มีของมึนเมาเข้ามายุ่งเกี่ยว ก็ถือเป็นบุญที่บริสุทธิ์ จึงอยากฝากทุกท่านให้เปลี่ยนค่านิยมใหม่ไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเข้ามาทำลายคุณค่าของงานบุญ เพราะบุญจะกลายเป็นบาป นอกจากนี้เจ้าภาพจัดงานก็ไม่จำเป็นต้องตามใจแขกนำสิ่งมึนเมามาเลี้ยง เพราะคนที่ได้ประโยชน์ คือผู้ประกอบการ ส่วนเจ้าภาพอาจต้องเป็นทุกข์แทนที่จะได้บุญ
ขณะที่ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า คนไทยถูกมองว่าเป็นชาติที่ชอบดื่ม จนล่าสุดเราได้กลายเป็นตลาดอันดับ 3 ของวิสกี้ยี่ห้อดังระดับโลกไปแล้ว ในขณะที่คนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี ไม่เว้นแม้งานบุญ งานประเพณี ทำให้ในช่วงเทศกาลงานบุญตัวเลขอุบัติเหตุบาดเจ็บพิการและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือประชาชนยังมองว่าการดื่มสุราในงานบุญเป็นเรื่องปกติ ไม่เกี่ยวกับบุญบาป มีเหล้าทำให้งานสนุก หรือกลัวแขกมาร่วมงานดูถูก หากดูจากสถิติการเคยดื่มในงานบุญ ปี 2553 ที่สำรวจโดยศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ พบว่า 1 ใน 4 หรือ 24.3% ยังนิยมดื่มในงานทอดกฐิน และ 19.5% นิยมดื่มในงานทอดผ้าป่า ดังนั้น การรณรงค์สร้างความเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเจ้าภาพ คนร่วมบุญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่ม เห็นความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย
“ยืนยันว่าการทอดกฐิน ผ้าป่าปลอดเหล้าจะทำให้เราปลอดภัยและมีเงินเหลือเก็บ เห็นได้จากข้อมูลงานวิจัยที่ยืนยันชัดเจนว่า เมื่อจัดงานกฐิน ผ้าป่าโดยไม่มีเหล้า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเหล้าลง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่องาน อย่างไรก็ดี หลังจากนี้จะเริ่มมีประชาชนทยอยเดินทางไปทำบุญตามสถานที่ต่างๆ ระหว่างเดินทางอาจมีการดื่มสังสรรค์บนรถ จึงเป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุและทะเลาะวิวาท หากนำกฎหมายห้ามดื่มบนรถมาบังคับใช้ ก็จะช่วยลดความสูญเสียลงได้” ผู้จัดการ สคล.กล่าว
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล.