สสส.-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กภูมิสตึง สานพลังชุมชน “สร้างพื้นที่ดี” ผ่านสื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ที่มา : โครงการ “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะ”

                    ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านภูมิสตึง อ.ปราสาท จังหวัดสุรินทร์  ใช้กระบวนการนิเวศสื่อสุขภาวะ เน้นการใช้สื่อสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก โดยบูรณการเข้ากับการจัดประสบการณ์ในห้องเรียนและสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองเด็ก

                    ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถือว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านภูมิสตึง มีความพยายามที่จะทำให้บ้านหลังนี้ เป็นบ้านที่มีความสุขของเด็ก โดยให้ความสำคัญกับ “สื่อดี หรือสื่อสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ของเล่นที่เด็กทำเองได้” ร่วมกับการส่งเสริมให้เกิด “นิเวศสื่อสุขภาวะในครอบครัว” มีการกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ปกครอง ร่วมกันผลิตสื่อ และของเล่นกับลูก เพราะเป็นการสร้างเวลาและความผูกพันที่มีคุณค่าร่วมกันในครอบครัว เด็กๆ ได้เล่นกับของที่ปู่ ย่า ตา ยายเคยเล่นมาก่อน ส่งทอดความรักความผูกพันระหว่างกันในครอบครัว

                    ที่ศูนย์ฯ เป็นอีกพื้นที่ดี อีกแหล่งหนึ่งที่จัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ในช่วงเช้าแต่ละวัน จะเห็นเด็กๆ ไปร่วมรดน้ำ และดูแลแปลงผักที่ครูได้จัดขึ้นมา เพื่อเป็นคลังอาหารที่เติมเต็มโภชนาการให้เด็กๆ และปลูกฝังนิสัยรักสุขภาพผ่านการกินผัก ทุกๆ สัปดาห์ เด็กๆ และคุณครูจะช่วยกันปลูกและดูแลพืชผักในศูนย์ฯ นอกจากเรียนรู้เรื่องพืช ผักแล้ว เด็กๆ ยังได้ซึมซับหลักคิดเรื่องความรับผิดชอบ การมีวินัย ซึ่งเป็นรากฐานของทักษะชีวิตของเด็กอีกด้วย

สื่อสร้างสรรค์  ของเล่นจากหัวใจและสองมือ

                    คุณครูมาฆะศิริ ยานสิริ  กล่าวว่า ครูจะชวนสร้างสื่อดี ที่ส่งเสริมการเรียนรู้โดยให้เด็กได้ลงมือทำ ร่วมกับครอบครัว และได้ชวนผู้เฒ่าในหมู่บ้านนำภูมิปัญหาท้องถิ่นมาประดิษฐ์สื่อดี เช่น ม้าก้านกล้วย รถไขลานจากขวดน้ำ ไปจนถึงกังหันกระดาษ ซึ่งเด็กๆ จะได้พัฒนาทักษะ กล้ามเนื้อมัดเล็ก พวกนิ้วมือ การหยิบจับ

                    ครูสิรภัทรพิมพ์ ธานีพูน กล่าวว่า การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมภูมิดีของเด็ก ผ่านกิจกรรมร่วมกัน เช่น สานปลาจากใบมะพร้าว ทำขนมตาล จากลูกตาลที่เก็บได้ในศูนย์ฯ เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าขนมไทยทำอย่างไรหรือ ตัดชุดตุ๊กตาจากผ้าไหมสุรินทร์ ให้เด็กเรียนรู้ลายผ้าไหมพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ซึมซับ วัฒนธรรมของท้องถิ่นอีกด้วย

แนวคิด 3 ดี : บ้านดี สังคมดี สื่อดี

                    นิเวศสื่อสุขภาวะของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านภูมิสตึง ไม่ได้จบแค่ในโรงเรียน แต่ครูได้ส่งต่อการบ้านสร้างสรรค์ สำหรับผู้ปกครอง ผ่าน แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) สู่ครอบครัว โดยการใช้สื่อสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือเชื่อมใจ คุณครูจะให้โจทย์แก่เด็กๆ เพื่อชวนพ่อแม่มาทำของเล่นง่ายๆ ที่บ้าน เช่น   ม้าก้านกล้วย ช่วยเสริมสมดุลการเคลื่อนไหวและจินตนาการ เรือใบฝาขวดน้ำอัดลม รถไขลานจากขวดน้ำ ฝึกเด็กคิดเชิงกลไก โทรศัพท์แก้วพลาสติก เด็กๆ เรียนรู้เรื่องเสียงและการสื่อสาร การสานปลาจากใบมะพร้าว เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและฝึกสมาธิ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการบ้านที่ ผู้ปกครองต้องมาใช้เวลาร่วมกันกับเด็กๆ ในครอบครัว  ช่วยลดเวลาหน้าจอของเด็ก เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการตั้งกติกาและข้อตกลงร่วมกัน เช่น มีการจัด “มุม 3 ดี” ในบ้าน (มุมปลูกผัก มุมเล่น มุมทำกิจกรรม ลดการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็ก ปกครองใช้เวลาเล่นกับเด็กหลังจากทำงานบ้านเสร็จ กระบวนการเหล่านี้ ล้วนช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน

                    “เด็กๆ ที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ให้พวกเขาได้คิด ได้ลอง ได้เล่น และได้เรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชน จากภูมิปัญญาของผู้ใหญ่ สร้างภูมิดีในตัวของเด็ก การเรียนรู้ไม่ได้มาจากหน้าจอ แต่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสของจริง และการได้รับความรักจากคนรอบตัว” ครูมาฆะศิริ กล่าวเพิ่มเติม

                    โครงการ “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะ” คือบทพิสูจน์ว่า สื่อสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่อยู่ในวิถีชีวิตที่เด็กๆ ได้สัมผัสทุกวัน จากการทำสื่อสร้างสรรค์ร่วมกัน พ่อแม่หลายคนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก เช่น เด็กมีความอดทนมากขึ้น จากการลองผิดลองถูกได้ทำสื่อ ทำของเล่นด้วยตัวเอง เด็กกล้าแสดงออกและเล่าเรื่องได้ดีขึ้น เพราะได้เล่นบทบาทสมมติและอวดผลงานของตนเอง  ผู้ปกครองมีเวลาคุณภาพกับลูกมากขึ้น เพราะได้ใช้เวลาร่วมกัน “จากที่เด็กเคยงอแง ขอเล่นมือถือ ตอนนี้เขากลับอยากทำของเล่นกับผู้ใหญ่แทน” ผู้ปกครองคนหนึ่งเล่าให้ครูฟัง

                    ท้ายที่สุด นางสาวสายใจ คงทน กลุ่ม wearehappy  หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงแนวคิด “นิเวศสื่อสุขภาวะ” ที่เครือข่ายครูมหัศจรรย์ร่วมกันดำเนินงาน ภายใต้โครงมหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย  โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูปฐมวัยทั่วประเทศ ว่า

                    “นิเวศสื่อสุขภาวะ มุ่งเน้นให้สื่อเป็นมากกว่าสิ่งที่ใช้ดูหรือเล่น แต่เป็น เครื่องมือที่เชื่อมโยงเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวและเสริมสร้างสุขภาวะในทุกมิติ ได้แก่ กาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เน้นสื่อสร้างสรรค์จากธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เด็กได้ใช้วัสดุรอบตัวมาสร้างสรรค์ของเล่น เสริมจินตนาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ผู้ปกครองเป็น “ผู้เรียนรู้ร่วมกับเด็ก” ผ่านสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ ปรับสภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่ดีส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และส่งเสริมภูมิดี เกิดสุขภาวะทางกายและจิตใจที่ดี ลดการใช้หน้าจอที่ไม่เหมาะสม เพิ่มกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กพัฒนาอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา”

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code