สสส.วอนธุรกิจน้ำเมาเห็นแก่อนาคตของชาติ
เผย! สนับสนุนกิจกรรม นศ.หวังดีหรือมีนัยแฝง???
แม้ว่าทุกวันนี้ รับน้องปลอดเหล้าจะฮิตติดลมบนไปแล้ว แต่สิ่งที่กำลังเคลือบแฝงไปกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เยาวชนของเราได้ซึมซับเจนตากับโลโก้ของธุรกจิน้ำเมา จนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และการดื่มก็เป็นเรื่องปกติ!!!
จากการสำรวจล่าสุดของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในกิจกรรมรับน้องใหม่ และกีฬาน้องใหม่ปี 2551 ในนักศึกษากว่า 2,446 รายจาก 15 สถาบัน บอกว่า เคยเห็นรุ่นพี่ดื่มเหล้าในงานรับน้องลดลงเหลือเพียง 19.5% เท่านั้น แต่เมื่อเทียบในงานกีฬาเชียร์แล้ว เคยเห็นดื่มเกิน 40%
แม้ว่าเรื่องที่น่ายินดีคือ กลุ่มตัวของเยาวชนที่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเกิน 40% ไม่เคยดื่มเหล้ามาก่อน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะ ทัศนคติเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เยาวชนกว่า 85% เห็นว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องปกติ!!!
นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่ภาคธุรกิจน้ำเมาทราบกันดี จึงได้พยายามแทรกซึมเข้ามามุ่งเน้นการตลาดในฐานะผู้ให้ คืนกำไรกับสังคมด้วยการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัย อาทิ งานกีฬา งานประกวดดาวเดือน ฯลฯ
สอดคล้องกับงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท น.ส.ญาดา วิทยาพันธ์ประชา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าชุดวิจัย “การรับรู้ การจดจำได้ และทัศนคติของเยาวชนต่อกิจกรรมเพื่อสังคม ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ศึกษากับเยาวชนชายหญิงอายุ 11-20 ปี ในสถานศึกษา 3 แห่ง ของกทม.และปริมณฑล พบว่า
“การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ มีผลต่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัทในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคมองข้ามผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ โดย 50% บอกว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ขณะที่ 48.8% เชื่อว่าการทำเพื่อสังคมของธุรกิจเหล้ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง
ดังนั้น การโฆษณาเชิงภาพลักษณ์ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เยาวชนไทยจะเติบโตขึ้นพร้อมกับทัศนคติที่ดีต่อธุรกิจเหล้า เบียร์ และที่น่ากลัวตามมา คือ เด็กจะใช้เป็นข้ออ้างในการซื้อสินค้าที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ดี มีโทษ ไม่มีประโยชน์ แต่หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่า ซื้อสิ่งผิดแต่ทำบุญได้ เพราะรับรู้ว่าธุรกิจนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ในทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม”
เช่นเดียวกันกับความคิดเห็นของ รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เฝ้าระวังปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์มาโดยตลอด เห็นว่า แม้ไม่ต้องมีโฆษณา ไม่ต้องมีการจัดกิจกรรม เยาวชนเขาก็ดื่มอยู่แล้ว แต่เพียงจะเป็นการสร้างทัศนคติต่อสินค้านั้นๆ ว่าตัดสินใจดื่มยี่ห้อนี้ เพราะเคยสนับสนุนเรา นั่นเรียกง่ายๆ ว่า การแข่งกันในการที่จะแย่งความจงรักภักดี กับสินค้ามากว่าที่มันจะกระตุ้นเรื่องพฤติกรรม
รศ.ดร.ปาริชาติ เสนอว่า หากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นว่าต้องการ “ทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง” ก็ไม่ควรมาสนับสนนุนกิจกรรมรณรงค์ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮล์ เพราะมันดูขัดๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน้างานที่มีอยู่ ทำง่ายถ้าอยากช่วยสังคม เพียงขอให้งดขายบางช่วงจะดีกว่า ไม่ต้องคอยให้ผู้ใหญ่ในประเทศมาบอกว่าควรที่จะกำหนดให้วันนี้เป็นวันงดขายเหล้า เพื่อทำให้โอกาสของคนที่อยากจะดื่ม เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช้าลงและยากขึ้น
“นอกจากนี้อาจนำเงินงบประมาณบางส่วนของบริษัทไปตั้งกองทุนเอาเงินลงไป่วยเหลือเหยื่อที่เกิดปัญหาจากอุบัติเหตุทางการจราจรอันเนื่องมาจากสุราหรือจะเป็นเหยื่อที่เกิดปัญหาอื่นๆ อันเนื่องมาจากสุราก็ได้ เช่นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากผลพวงการดื่มเหล้า”
ในฐานะผู้ทำงานด้านปัญหาของน้ำเมา อย่างนพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญาหาสุรา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยากวิงวอนถึงกลุ่มธุรกิจเครื่องเดื่มแอลกอฮอล์ว่า ไม่อยากให้นำเรื่องของการตลาดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษาภายในสถานศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการสื่อสารโดยตรงต่อเด็ก ทำให้พวกเขาเกิดความยอมรับอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งการจัดกิจกรรมต่างเหล่านี้นั้น หากสถานศึกษา มหาวิทยาลัยไหนพอเลี้ยงตัวเอง หรือมีเงินทุนในการทำกิจกรรมเองได้ ก็ควรปฏิเสธการช่วยเหลือในรูปแบบของสปอนเซอร์ของเหล่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ถึงคราวที่ผู้ใหญ่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะความซึมซับในเรื่องที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชนมากกว่าเม็ดเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องแลกกับอนาคตของชาติ
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 29-08-51