สสส.ลุยใช้ “ดิจิทัล” เก็บข้อมูลสุขภาพ

ที่มา : MGR Online


ภาพประกอบจาก สสส.


สสส.ลุยใช้


สสส.เล็งใช้ "ดิจิทัล" เก็บข้อมูลบิ๊กดาตาด้านสุขภาพ ช่วยได้ข้อมูลเร็วขึ้น เรียลไทม์ ออกมาตรการสุขภาพทันเวลา พร้อมหนุนภาคีเครือข่ายเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบดิจิทัล ผ่านระบบจีพีเอส โซเชียลมีเดีย มือถือ ยื่นโครงการและรายงานผลผ่านดิจิทัล เป็นคลังความรู้ใช้วางแผน สื่อสารสุขภาวะ จ่อลุยทำข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง ป้องกันแชร์ข่าวลวง


วันนี้ (13 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในกาประชุมวิชาการ ThaiHealth Academy Forum 2019 หัวข้อ "Digital Health (สุขภาพดิจิทัล)" ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันคนเรามากขึ้น เช่นเดียวกับงานด้านสุขภาพ บุคลากรด้านสุขภาพและภาคีเครือข่าย จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน และใช้ Digital Health มาเป็นทักษะหนึ่งในการพัฒนางาน ซึ่ง สสส.ก็มีทิศทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ 3 แนวทาง คือ 1.การใช้ข้อมูลหรือ Big Dataที่จะช่วยรู้ให้สถานการณ์สุขภาพ พฤติกรรมคนไทย และสถิติต่างๆ ในการนำมาใช้วางแผนนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลตรงนี้อาจทำได้ค่อนข้างล่าช้า เช่น สถิติบุหรี่ เหล้า กิจกรรมทางกาย ต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลอย่างน้อย 2-5 ปี ทำให้ไม่ทันในการออกแบบกระบวนการและนวัตกรรมต่างๆ ก็ต้องใช้เทคโนโบยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นจนถึงขั้นเรียลไทม์


สสส.ลุยใช้

          


"ขณะนี้ สสส.ก็มีการร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการที่จะเก็บข้อมูลสถิติให้ได้รวดเร็วขึ้น โดยการเก็บข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลมีความรวดเร็วขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้ข้อมูลมีความละเอียดมากยิ่งขึ้นในระดับบุคคล หมู่บ้าน ชุมชน หรือจังหวัด เพื่อจัดการแก้ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่ ซึ่งระบบดิจิทัลจะช่วยให้เราสามารถบูรณาการข้อมูลเข้ามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น สิงคโปร์มีการแจกนาฬิกาในการติดตามวัดจำนวนก้าวของประชากร ทำให้ทราบการมีกิจกรรมทางกาย เราก็สามารถใช้รูปแบบนี้มาพัฒนาการเก็บข้อมูลได้ โดยอาจร่วมกับชมรมนักวิ่งต่างๆ ที่อาจมีการใช้งานสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เข้ามาเป็นจิตอาสาในการร่วมกันเก็บข้อมูล และขยายต่อไปเรื่อยๆ หรือการใช้ข้อมูลทางจีพีเอส ดาวเทียม ในการมองพิกัดปัญหา การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเทรน ทำให้ได้ข้อมูลละเอียดขึ้น อย่างคนโพสต์ภาพอาหาร จะหาทางดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้วิเคราะห์ได้หรือไม่ว่า คนชอบกินอาหารแบบใด ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร" ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว


ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวว่า 2.การยกระดับการให้บริการสุขภาพ เรื่องของโรงพยาบาล สถานพยาบาล เวชระเบียน สิทธิ ประวัติผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ใช้ข้อมูลและดิจิทัลเข้ามาช่วยเยอะมาก หลายโรงพยาบาลก็ใช้ลักษณะแบบนี้มากขึ้น สสส.จะช่วยหนุนเสริมระบบข้อมูลแบบนี้ ทำอย่างไรเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาล และผู้ใช้บริการ เพื่อมาออกแบบการทำงานสร้างเสริมสุขภาพด้วยกัน และ 3.เรื่องข้อมูลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีพวกข่าวปลอมและข้อมูลข่าวสุขภาพเยอะมาก โดยไม่มีที่มาที่ไปในการตรวจสอบความถูกต้อง สสส.ก็จะทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหลายองค์กรที่ดูเรื่องการสื่อสารสุขภาพ ในการทำเว็บไซต์ เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง


"ส่วนที่ สสส.จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนภาคีเครือข่าย คือการปรับปรุงการทำงานระหว่างสสส.และภาคีเครือข่ายให้เป็นข้อมูลดิจิทัลมากขึ้น อย่างการทำโครงการก็จะทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Proposal ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเป็นรูปแบบของกระดาษ ก็จะหันมาใช้คอมพิวเตอร์และการรายงานผลความก้าวหน้า องค์ความรู้จากโครงการ จะเก็บในระบบข้อมูล จะทำให้เกิดเป็นคลังข้อมูล จะถูกประมวลจัดเก็บแยกแยะเป็นหมวดหมู่ เพื่อนำมาใช้วางแผนหรือสื่อสารสุขภาวะต่อไปได้ การส่งข้อมูล เผยแพร่ข้อมูลจะดีขึ้น" ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว


สสส.ลุยใช้


ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจะเป็นสิ่งที่นำมาใช้ในระบบสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการจะนำมาใช้ต้องรู้ว่า ปัจจุบันเอไอเหล่านี้เก่งในเรื่องใด ซึ่งเท่าที่มอง คือ เก่งในเรื่องของการจดจำภาพต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเอไอและระบบดิจิทัลที่เอามาใช้ด้านสุขภาพมีอยู่ประมาณ 4 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมและป้องกันโรค เช่น อุปกรณ์ในการใช้วัดการเดิน อัตราการเต้นของหัวใจ ไปจนถึงความดันโลหิต หรือการใช้หุ่นยนต์มาช่วยดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่างหุ่นยนต์หมีช่วยยกผู้ป่วยขึ้นลงเตียง หุ่นยนต์แมวน้ำที่อ้อนให้ผู้สูงอายุลูบและพูดคุยคลายเหงา หุ่นยนต์ชวนคนเต้น เป็นต้น 2.การวินิจฉัย ซึ่งค่อนข้างมีความแม่นยำ เพราะเอไอเก่งเรื่องของภาพ อย่างการวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดปกติ ปอดบวม จากการดูภาพสแกนหรือเอกซเรย์ หรือภาพถ่ายลักษณะของผิวหนังว่าเป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่ ซึ่งข้อดีคือเมื่อเอไอเรียนรู้ความรู้รู้เหล่านี้แล้วสามารถกระจายได้ทันที ต่างจากแพทย์เชี่ยวชาญที่จะต้องใช้เวลาในการผลิตและสอนกว่าจะวินิจฉัยได้


3.การรักษา เช่น การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีความแม่นยำ และสามารถเข้าถึงในจุดที่มือหมอเข้าไม่ถึงได้ และหากระบบพัฒนาขึ้นเป็น 5G ที่สามารถส่งภาพระดับ 4K และ 8K ได้อย่างดี ก็จะช่วยเรื่องการผ่าตัดระยะไกลได้ แพทย์สามารถใช้ระบบ 5G ควบคุมการผ่าตัดของหุ่นยนต์จากระยพไกลได้ เพราะมีความหน่วงต่ำ เป้นโอกาสในการปฏิวัติการรักษา รวมถึงการใช้ระบบ VR AR ต่างๆ มาใช้ในการเทรนคนได้ และ 4.การฟื้นฟู เช่น การใช้การพิมพ์แบบสามมิติในการออกแบบและผลิตอวัยวะเทียมที่เข้ากับบุคคลแต่ละคน หรือเรื่องของการมีเซนเซอร์ในอวัยวะเทียม ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น อย่างนิ้วขาด เมื่อทำอวัยวะเทียมที่มีเซนเซอร์ ก็จะจับท่าทางการเคลื่อนไหวทำให้รู้ว่าแบบนี้จะกำมือ นิ้วก็จะกำให้เองทำให้สามารถหยิบจับได้ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือการจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ต้องคำนึงว่า ใช้ได้จริงหรือไม่ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีผลประโยชน์ต่อคนในวงกว้างหรือวงแคบ ผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยงหรือไม่ เช่น ความปลอดภัยของคน การถูกแฮกข้อมูลจะป้องกันอย่างไร ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และจะทำให้คนมีอิสระมากขึ้นหรือพึ่งพิงเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code