สสส.รุกแข่งเรือปลอดเหล้า ระดมเครือข่ายสกัดน้ำเมา
ระดมยุทธศาสตร์งานบุญแข่งเรือปลอดเหล้าเบียร์ ชูสร้างเป็นวัฒนธรรมแห่งสายน้ำของคนลุ่มน้ำมูล พร้อมเป็นต้นแบบดันแผนงดเหล้าในพื้นที่ให้เกิดผลอย่างจริงจัง เผยสถิติคนไทยเริ่มเมาที่อายุ 11 ขวบ ผู้ว่าอุบลฯ เข้มเตรียมสั่งปลดผู้ใหญ่บ้าน ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้
ตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย เทศบาลนครอุบลฯ สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย ระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์งานบุญแข่งเรือปลอดเหล้าเบียร์ ชูสร้างเป็นวัฒนธรรมแห่งสายน้ำของคนลุ่มน้ำมูล ที่วันนี้มีเครือข่ายเดินทางมาร่วมประชุมจากหลายจังหวัดทั่วภาคอีสาน และพร้อมจะกลับไปเป็นต้นแบบดันแผนงดเหล้าในพื้นที่ให้เกิดผลอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2554 ที่ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น กอ.รมน.ภาค 2 จ.อุบลราชธานี
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า การระดมสมองในวันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นำเรื่องวัฒนธรรมแห่งสายน้ำมาเป็นจุด เริ่มในการจัดบุญแข่งเรืองดเหล้าในเขตลุ่มน้ำมูลทั้งสาย เพราะว่าที่ผ่านมาเรื่องของความเชื่อและวัฒนธรรมเกี่ยวกับแม่น้ำได้ถูกลืม เลือนไป และเน้นการท่องเที่ยวเป็นสาระสำคัญ ซึ่งคนที่มาคุยในวันนี้เห็นว่าถ้าหากไม่รีบเยียวยาเกรงจะสูญหายในไม่ช้านี้ และเมื่อคุยกันแล้ว เครือข่ายที่มาก็จะกลับไปทำงานขยายผลในพื้นที่ของตัวเองและต่อจากนี้งานแข่ง เรือในทุกพื้นที่จะหยิบยกประเด็นวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในงานให้มากขึ้น
นอกจากนี้ นายวิษณุยังกล่าวถึงกิจกรรมย่อยที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับประเพณีแข่งเรือ คือการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยฝึกฝีพายให้มีกำลังและร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มชูกำลัง และแน่นอนว่าฝีพายทุกคนจะต้องงดดื่มสุรา และสูบบุหรี่ด้วย และอีกกิจกรรมที่จะช่วยสืบสานประเพณีแข่งเรือให้คงอยู่คือการฝึกนักพากย์ เรือรุ่นเยาว์ที่จะต้องเป็นนักพากย์เรือรุ่นใหม่มาแทนรุ่นเก่าที่เริ่มจะหดหายไป ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งในปีนี้เด็กๆ ที่ผ่านการอบรมก็จะได้ไปสร้างสีสันงานแข่งเรือในหลายสนามด้วย
นายอัมพร วาภพ ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำมูลถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอีสาน ที่ต้องกินต้องใช้มาตั้งแต่อดีต และคนลุ่มน้ำมูลให้ความสำคัญกับสายน้ำนี้มากจนมีการแต่งทั้งบทกลอน บทเพลง หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับแม้น้ำมูล แต่ปัจจุบันสภาพแม่น้ำมูลเปลี่ยนไปเพราะคนเริ่มตักตวงผลประโยชน์มากขึ้น ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับสายน้ำก็ถูกลืมเลือน เช่น การขุดหาหน่อไม้ริมฝั่งแม่น้ำที่ผู้เฒ่าผู้แก่สอนว่าต้องถมดินคืนเสมอเมื่อ ขุดเอาหน่อไม้ไปแล้ว เป็นต้น
สำหรับบรรยากาศการระดมสมองได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่บางท่านเป็นห่วงคือการรณรงค์ไม่ได้ผลเหมือนเช่นในปีที่ผ่านๆ มา ที่แม้จะมีการโหมประชาสัมพันธ์และออกกฎหมายบังคับ แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืนอยู่ตลอดเวลา ในปีนี้จึงอยากให้ฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายได้มากวดขัน ให้เข้มงวดกว่าเดิม ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้น 4 วัน คือวันที่ 29 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2554ที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 3 ห้องย่อย คือห้องฝึกฝีพายด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา มีทีมเรือมาเข้ารับการฝึกอบรมหลายทีมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยช่วงบ่าย ได้ไปฝึกซ้อมจริงที่ท่าน้ำตลาดใหญ่เทศบาลนครอุบลราชธานี
ห้องที่สองพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมสายน้ำที่เคยยึดถือปฏิบัติการมาในอดีต แต่ปัจจุบันหลายอย่างได้สูญหายไปแล้ว และห้องที่ 3 เป็นห้องอบรมหลักสูตรนักพากย์เรือเยาวชนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในงานแข่งเรือ ปลอดเหล้าเบียร์ ให้ความรู้โดยนายพีรพงศ์ พรหมบุตร นักพากย์เรือชื่อดังเป็นวิทยากร มีเด็กและเยาวชนจากหลายโรงเรียนเข้าร่วมอบรมและที่น่าสนใจ คือ ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมวางแผนดำเนินงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาประจำปี 2554 ที่ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีตัวแทนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมหลายองค์กร เช่น เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี องค์กรพระผู้นำแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี สมาคมหมออนามัย เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
โดยนายวิทยา บุญฉวี ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า หลังจากที่มีโครงการรณรงค์งดเหล้าในงานบุญประเพณีมาตั้งแต่ปี 2551 ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในเรื่องของการขยายพื้นที่การรณรงค์ที่ กระจายไปทั่วจังหวัด และมีองค์กรภาคีมาร่วมมากมาย และทุกๆ ปีจะมีการรวมตัวกันของชาวอุบลฯเพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าจะงดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา กลายเป็นพื้นที่นำร่องการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในระดับชาติ และเช่นเคยที่เทศกาลเข้าพรรษาของปีนี้ใกล้เข้ามาแล้ว และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าก็ยังคงมีเจตนารมณ์ในการรณรงค์อยู่เช่นเดิม โดยวางแผนไว้ว่าจะมีกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์อีกครั้งที่ลานทุ่งศรีเมือง
ทางด้าน พระสิริพัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง กล่าวว่า จำนวนคนที่จะมาร่วมงานนั้น มากน้อยไม่สำคัญ แต่ขอให้มาด้วยใจ ทำงานให้เต็มที่ก็พอ ซึ่งอาจขอความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอขอคนมาร่วมงานอำเภอละแค่ 200 คนก็จะมีคนมาร่วมกิจกรรมได้ประมาณ 5 พันคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับเมื่อปีที่แล้ว
นางปรียา โพชมาตร เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สถิติการจับกุมและดำเนินคดีคนเมาแล้วขับนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมามีผู้ต้องคดีและถูกควบคุมความประพฤติเฉพาะในเขตเทศบาลนั้นมากกว่า 600 คน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและทำให้เจ้าหน้าที่ของ สนง.คุมประพฤติทำงานอย่างลำบาก ใจมากที่สุด คือคนที่ถูกจับในข้อหาเมาแล้วขับและต้องมาบำเพ็ญประโยชน์ภายใต้การดูแลของ สำนักงานคุมประพฤตินั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงทั้งในจังหวัดอุบลฯ เองและส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงจากต่างจังหวัดที่มาประชุมสัมมนาในพื้นที่ ทำให้การใช้บทลงโทษนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยกว่า จึงถูกข่มขู่อยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดอุบลราชธานีและคณะอนุกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 โดยมีนายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน และมีแนวคิดว่าจะรณรงค์งดเหล้าช่วงเข้าพรรษาให้เป็นภาพใหญ่ทั้งจังหวัดและลง ลึกไปยังระดับหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นผู้นำในการงดเหล้าและถ้าหากทำงานแล้วไม่ได้ผลก็อาจ ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด คือสั่งปลดเพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง
นายวิทยา เปิดเผยอีกว่า จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มดื่มสุรากันที่อายุแค่เพียง 11 ขวบเท่านั้นเอง ฉะนั้น กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไปรณรงค์ในปีนี้คงต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็ก 11 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งอยากให้คนที่ดื่มมานานได้มีเวลาพักบ้างทั้งร่างกายและสติ หากงดเว้นในช่วงนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะงดเว้นตลอดชีวิต โดยอาจไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นภาพใหญ่ก็ได้เพราะเป็นไปได้ยาก อาจทำภาพเล็กแต่มีคนมาร่วมที่มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะละเว้นการดื่มในช่วงเข้าพรรษาก็น่าจะพอ
ส่วนเนื้อหาหลักในการประชุม คือจะมีกิจกรรมเดินรณรงค์จาก 4 มุมเมืองและกล่าวคำปฏิญาณตนว่าจะงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา นี้ โดยจะจัดขึ้นที่บริเวณลานเทียนทุ่งศรีเมืองในวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 คาดว่าจะมีผู้มาร่วมกิจกรรมราว 5,000 คน และในปีนี้จังหวัดอุบลฯ ยังจะสร้างสถิติคนลงชื่องดเหล้าเข้าพรรษาให้ได้จำนวน 1.5 แสนคนด้วย
ที่มา: โคราชรายวัน