สสส. “รวมพลังชุมชน” ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม

มหาอุทกภัยครั้งนี้ สร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ความสูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาณเตือนให้คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นสู้กับภัยพิบัติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สสส. “รวมพลังชุมชน” ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม

การหาหนทางแก้ไขที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ “ศักยภาพพลังชุมชนท้องถิ่น” เพื่อการเริ่มต้นก้ปัญหาที่เป็นระบบอย่างยั่งยืน 

“4 แนวทางจัดการภัยพิบัติ”

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์“เมื่อก่อนพื้นที่บางแห่งน้ำไม่ท่วม แต่ตอนนี้ท่วม แล้วต่อไปในอนาคตจึงเป็นที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าน้ำต้องท่วมหนักกว่านี้อีก” ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวในการเสวนา หัวข้อ “ศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ” ส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานพลังร่วมสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นภาคใต้” ณ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จัดขึ้นโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมประกอบด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 144 องค์กร รวมผู้เข้าร่วม 450 คน

ทพ.กฤษดา ยังให้ความคิดเห็นด้วยว่าเหตุที่วันนี้ต้องให้ความสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ เพราะสภาพอากาศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก่อนพื้นที่บางแห่งน้ำไม่ท่วม แต่ตอนนี้ท่วม ดังนั้น การรู้จักแนวทางหลักของการจัดการภัยพิบัติจะสามารถทำให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สามารถรับมือกับภัยที่จะมาถึงได้

“วงจรการจัดการภัยพิบัติ มี 4 แนวทาง เริ่มตั้งแต่เตรียมแผนป้องกัน เตรียมการ รับมือ และฟื้นฟู ซึ่งตอนนี้กรุงเทพฯ กำลังรับมือ เหตุการณ์ที่พบอย่างต่อเนื่อง พื้นที่อพยพที่เตรียมไว้มีน้ำท่วมทำให้ต้องย้ายคน เป็นเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายศูนย์พักพิงเกิดเหตุการณ์ประชาชนไม่ยอมอพยพ”

“แนวคิดสากล เริ่มต้นจากชุมชนท้องถิ่น”

หากเป็นแนวคิดของสากล การจัดการภัยพิบัติไม่ได้จัดการจากระดับบน ต้องเริ่มจัดการในระดับพื้นที่ก่อน โดยใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นในประเทศนิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น

สสส. “รวมพลังชุมชน” ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น มีการทำงานกันทั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ พื้นที่ และบุคคล ทุกบ้านข้างในกระเป๋าเขาจะมีอุปกรณ์พื้นฐานจำพวกเสื้อผ้า ไฟฉาย วิทยุรับข่าวสาร และคู่มือสามารถเอามาใช้ได้เลย อันนี้ทุกคนต้องรู้ว่าจะมีการเตรียมตัวอย่างไร ไม่ใช้ที่กทม.ที่มีการรื้อคันกั้นน้ำกันทุกวัน ไม่ให้น้ำท่วมบ้านฉันต้องการรื้อคันกั้นน้ำ อันนี้ไม่ใช่ว่าเขาผิด แต่เพราะทุกคนไม่ได้ถูกเตรียมตัวไว้ก่อน สร้างความเข้าใจกันไว้ก่อนในระดับตัวบุคคล

“ดังนั้น คนในท้องถิ่นจึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานเพื่อจัดการภัยพิบัติ การเตรียมความพร้อมทั้งระดับบุคคล พื้นที่ ระดับชาติ จึงต้องมีความสอดคล้องซึ่งกันและกันในการเข้าถึงหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”

มหาอุทกภัยครั้งนี้ เป็นบทเรียนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประเทศที่ชัดเจนมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทุกคนต้องยอมรับว่า ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ประชาชนหลายล้านคนต้องประสบอุทุกภัยโดยไม่มีการวางแผนรับมือ

ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องมีการกระจายการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มต้นจากชุมชนท้องถิ่น

“ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนในชุมชน”

ด้วยข้อมูลและความช่วยเหลือกันของเครือข่ายตำบลสุขภาวะ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเข้ามาสนับสนุนพลังชุมชนเพื่อให้บ้านเมืองสามารถอยู่รอดได้อย่างแท้จริง

สมพร ใช้บางยางเช่นเดียวกับ “สมพร ใช้บางยาง” ประธานคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ได้ให้ความเห็นสอดคล้องในทางเดียวกันว่า วันนี้ไม่เพียงแค่เรื่องภัยพิบัติ การจะทำงานให้ประเทศไทยอยู่รอดต้องดูที่ท้องถิ่นต้องขึ้นมาจากฐานล่างมาเป็นฐานหลักคือ ประชาชน และฐานรอง รองรับอำนาจประชาชนก็คือ องค์กรระดับประเทศตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน

“ภัยพิบัติทำให้พี่น้องเราเดือดร้อน เราคนพื้นที่ไม่มีใครรู้ดีเท่าเรา ประวัติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมทั้งเหตุการณ์ คนในท้องถิ่นต้องเป็นหลักในการจัดการให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้ เราต้องพึ่งชุมชน เราจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไข ปรับเปลี่ยนวิธีคิดกัน ถ้าไม่เปลี่ยนปัญหามันจะยิ่งหนักขึ้น”

ถ้าจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ คือต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล และการรู้จักวางแผนอย่างเป็นระบบในการรับมือกับภัยพิบัติ หากรู้จักจัดการและวางแผนอย่างเป็นระบบนอกจากจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งแล้ว ก็จะสามารถเป็นที่พึ่งของเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ด้วย

นอกจากนี้การมองถึงปัจจัยที่เป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งจะทำให้การจัดการท้องถิ่นขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือ เรื่องของงบประมาณกองทุนท้องถิ่น

“หากเกิดภัยพิบัติสามารถใช้งบประมาณที่มีอยู่ได้เลย เนื่องจากภัยพิบัติเป็นภัยที่รอไม่ได้ หวังพึงภาครัฐก็คงนาน ถ้ามีกองทุนท้องถิ่นไว้บริหารกองทุนได้มากเท่าไร่ก็เป็นประโยชน์มากเท่านั้น” สมพร กล่าวเสริม

สสส. “รวมพลังชุมชน” ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม สสส. “รวมพลังชุมชน” ผ่านพ้นภัยพิบัติน้ำท่วม

“เครือข่ายชุมชนของเราทุกตำบลมีความสำคัญมาก เราช่วยกันได้เครือข่ายที่ไม่ประสบภัย แต่มีอุปกรณ์ มีเงิน และเครื่องมือเราก็ช่วยกัน สมัยก่อนเรียกลงแขกช่วยกัน สิ่งนี้ช่วยได้มาก ถึงเวลาน้ำท่วมจริงๆ เราช่วยตัวเองไม่ได้ เราต้องคิดองค์รวมคิดแยกส่วนไม่ได้ ต้องคิดด้วยกันแม้อาจมีความเสียหายจากภัยพิบัติบ้าง แต่เราก็สามารถช่วยกันให้ลดน้อยและไม่ตายเลยได้ อันนี้เราสามารถช่วยเหลือกันได้ในอนาคต”

การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จะก่อเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ ในอนาคต ถ้ามาจากการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบโดยอาศัย “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ซึ่งเป็นพลังของคนในท้องถิ่นที่สามารถประสานความร่วมมือช่วยเหลือกันได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดศักยภาพเครือข่ายของคนในชุมชนอย่างแท้จริง

ที่มา: สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code