สสส. ย้ำนักวิ่งเตรียมพร้อมก่อนลงสนาม ลดความเสี่ยงสุขภาพ
กลายเป็นเรื่องสะเทือน “วงการนักวิ่ง” เมื่อมีผู้เสียชีวิตระหว่างร่วมกิจกรรมงานวิ่งเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากแพทย์จะออกมาเตือนผู้ที่มีโรคประจำตัวให้ตรวจสอบร่างกายให้เหมาะสมแล้ว ยังเป็นประเด็นให้คณะผู้จัดงานวิ่งและนักวิ่งหันมาใส่ใจมาตรฐานการจัดงานวิ่ง ที่ปลอดภัยให้ละเอียดรอบคอบ ตลอดจนการเตรียมตัวของนักวิ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความสูญเสียถึงชีวิต
ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงกิจกรรมงานวิ่งที่พบผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ก่อนอื่นต้องแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีศึกษาให้ผู้จัดงานวิ่ง และตัวนักวิ่งต้องทบทวนเรื่องมาตรฐานการจัดงานให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยกับ "ชุมชนนักวิ่ง" ที่ปัจจุบันมีกลุ่มที่รักการออกกำลังชนิดนี้มากกว่า 17 ล้านคน
อยากให้อุทาหรณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ปลุกพลัง กระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพ แทนความหวาดกลัวหรือการเกิดข้อสงสัย โดยปัจจุบันการออกกำลังกายรวมไปถึงการขับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสเกิดผลกระทบเชิงลบที่ตามมา
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่นักวิ่งและผู้จัดงานต้องตระหนักทุกครั้ง ไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมก่อนการวิ่งเท่านั้น ที่ผ่านมา สสส. พยามยามเน้นย้ำที่สุด คือ “ความปลอดภัย” สร้างจุด Safe Zone ให้ทุกคนมีสุขภาพดีแบบถูกหลักการ รู้ศักยภาพของตัวเองในการวิ่ง ห้ามฝืนหากร่างกายไม่พร้อมหรือรู้สึกวิ่งไม่ไหว จึงแนะนำ เคล็ดไม่ลับสำหรับนักวิ่ง 4 ข้อ ได้แก่
1. เตรียมตัว ฝึกซ้อม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยวิ่ง อาจเริ่มจากการเดินเร็ว หรือวิ่งช้าๆ แล้วปรับเพิ่มระยะทางหรือเวลา ที่สำคัญต้องเลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอ
2. วอร์มร่างกายทุกครั้งก่อนลงสนาม อบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียด เพื่อให้ร่างกายเตรียมรับมือกับเลือดที่สูบฉีดไปยังอวัยวะ กล้ามเนื้อ และป้องกันการบาดเจ็บไปในตัว
3. ไม่ฝืนวิ่ง ถ้าร่างกายไม่ไหว แม้เส้นชัยจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักวิ่ง แต่อย่าลืมสังเกตร่างกายของตัวเอง หากรู้ว่าหายใจไม่ทัน เหนื่อย เวียนศรีษะ เจ็บหน้าอก ควรหยุดทันที แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่หรือคนข้างตัวที่อยู่ในงาน เพื่อให้การดูแลการแพทย์หรือนำส่งโรงพยาบาล
4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ สิ่งสำคัญในการวิ่ง คือการดื่มน้ำ เพราะทุก ๆ ก้าวที่วิ่งเราจะเสียเหงื่อ หากขาดน้ำอาจมีผลกระทบต่อร่างกาย วิงเวียนศีรษะ หมดแรง หรือเป็นตระคิวได้
5. ผ่อนคลายหลังวิ่ง ศัพท์เก๋ ๆ ในวงการนักวิ่งมักจะใช้คำว่า “คูลดาวน์” คือ หลังวิ่งต้องยืดเหยียด เดินช้าๆ ก่อนนั่งพัก เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ และให้เลือดไหลเวียนในร่างกายอย่างเต็มที่ หากทำได้ทุกครั้งทุกคนจะสนุกกับการวิ่งมากขึ้น
อยากเชิญชวนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย เพราะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน และอยากให้ทุกคนคลายกังวลว่า การวิ่งอาจมีความเสี่ยง หากเราเตรียมความพร้อมร่างกายดี การวางแผนจัดงานมีคุณภาพและมาตรฐาน จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่รัดกุม ควบคู่กับการมีสุขภาพที่ดี
“สิ่งที่นักวิ่งและผู้จัดงานต้องให้ความสำคัญ คือการเตรียมความพร้อม ออกกำลังกายจากเบาไปหาหนัก ฝึกวิ่งจากระยะใกล้ไประยะไกล และรู้ตัวเองว่ามีศักยภาพแค่ไหนกในการวิ่ง ห้ามฝืนเด็ดขาด อยากให้ทุกคนตระหนักว่าการออกกำลังกายทำให้สุขภาพดี ลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ต้องยอมรับว่าการป้องกันอาจจะไม่ได้ 100%
แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จะทำให้ปัญหาเกิดขึ้นน้อยลง ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมทั้ง สสส. ได้ร่วมพัฒนาให้เกิดการจัดงานวิ่งให้ได้มาตรฐาน ผู้สนในสามารถดาวน์โหลดคู่มือจัดงานวิ่งและคู่มือออกกำลังกาย มาศึกษาและอ่านก่อนทำกิจกรรมได้”
หากใครสนใจร่วมกลุ่ม “ชุมชนนักวิ่งสุขภาพดี” สามารถดาวน์โหลดคู่มือเตรียมความพร้อมก่อนออกกำลังกายและจัดงานวิ่งได้ที่ : http://ssss.network/8085i และ http://ssss.network/c09tf