สานพลังภาคีฯ ขับเคลื่อนการสื่อสารภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า เร่งสร้างความเข้าใจและเฝ้าระวังพฤติกรรมเยาวชน

ที่มา : กิจกรรมเสวนาวิชาการขับเคลื่อนทิศทางการสื่อสารภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า  ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

                    เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการขับเคลื่อนทิศทางการสื่อสารภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเปิดผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ เรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ประจำปีงบประมาณ 2566


                    นางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมทางสุขภาพ เรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ประจำปี 2566 ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของเยาวชนไทยต่อสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 61,688 คน โดยในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 25 เป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า (คิดเป็น 1 ใน 4) แม้การเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่นจะมีต้นเหตุจากนิโคตินก็ตาม แต่การศึกษาข้อมูลเชิงลึกยังพบว่าการที่บุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหรือรสชาติหอมหวาน จะมีโอกาสทำให้วัยรุ่นตัดสินใจใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มถึง 9.89 เท่า รวมถึงเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนเป็นประจำจะมีโอกาสใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 7.94 เท่า และอิทธิพลของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ารอบข้างจะทำให้วัยรุ่นตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 1.26 เท่าอีกด้วย
กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ สำหรับการลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทย ได้แก่ (1)
เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันยังปรากฎข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เด็กเยาวชน และประชาชนเข้าใจผิด (2) ดำเนินการสร้างกระแสทางสังคมเพื่อมุ่งผลของทัศนคติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็น “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเท่าบุหรี่มวน” ผ่านสื่อทุกช่องทาง และ (3) จะสนับสนุนให้แกนนำสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ได้แก่ ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) แกนนำนักเรียน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศไทย ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและให้คำปรึกษาเรื่องอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง”


ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า “จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขจะเห็นได้ว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการปรากฏสื่อที่ชวนเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยจะยิ่งทำให้การสื่อสารรณรงค์เผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของเด็ก เยาวชน
และนักวิชาการด้านการตลาดและอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ในกิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้การขับเคลื่อนทิศทางการสื่อสารภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มประสบผลสำเร็จ จากการสื่อสารที่ตรงจุด โดนใจวัยรุ่น และเป็นแนวทางการสื่อสารเชิงบวก โดยหลังจากนี้สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) จะเร่งขับเคลื่อนความรู้ร่วมกับผู้ทรงอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงแกนนำเด็กและเยาวชนทั่วประเทศด้วย”

Shares:
QR Code :
QR Code