สสส. – มูลนิธิทันตสาธารณสุข พัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิรักษาช่องปากวัยทำงาน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    วัยทำงานเข้าถึงสิทธิรักษาช่องปาก สสส. สานพลัง มูลนิธิทันตสาธารณสุข พัฒนากลไกการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก พบวัยทำงานสูญเสียฟันสูงถึง 83.9% มีภาวะเหงือกอักเสบ 81% เป็นร่องลึกปริทันต์ 32.6% ย้ำหากไม่ดูแลช่องปากส่งผลกระทบเสี่ยงโรคเบาหวาน-หัวใจ-หลอดเลือดสมองตีบ-ปอดอักเสบ-มะเร็งช่องปาก เสียค่าใช้จ่ายรักษา-ค่าเดินทางไป-ต้องหยุดงาน


                    เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ที่ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิทันตสาธารณสุข จัดประชุมเพื่อพัฒนากลไกการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก และป้องกันโรคในช่องปากกลุ่มผู้ประกันตน และกลุ่มผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบสุขภาพช่องปาก ที่มุ่งเน้นสุขภาพองค์รวม โดยเฉพาะวัยทำงานที่เป็นกำลังคนในการพัฒนาประเทศ


                    นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิทันตสาธารณสุข พัฒนา และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อให้วัยทำงานมีการใช้บริการสุขภาพช่องปากตามสิทธิประโยชน์พื้นฐานเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่พึงประสงค์ รวมถึงสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากผ่าน Facebook Fan page “ฟันดีดี” ที่มีผู้เข้าถึงมากกว่า 3 ล้านคน เป็นช่องทางสื่อสารที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก และฟัน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญ 1. เกิดนโยบายระดับประเทศที่เอื้อให้วัยทำงานได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียม 2. วัยทำงานได้รับบริการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปากผ่านการจัดบริการทันตกรรมทางไกล นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทันตบุคลากรพัฒนารูปแบบการจัดบริการเชิงรุก พัฒนาแนวทางการจัดบริการแบบบูรณาการกับระบบดูแลผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs


                    “ข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย พบว่า ไทยมีวัยทำงาน หรือผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.25 ล้านคน จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 9 ปี 2566 พบว่าปัญหาหลักที่พบในกลุ่มวัยทำงานอายุ 35-44 ปี คือ การสูญเสียฟันสูงถึง 83.9% มีภาวะเหงือกอักเสบ 81% ส่วนโรคปริทันต์อักเสบที่มีการทำลายจนเกิดเป็นร่องลึกปริทันต์พบเป็น 32.6% และพบความชุกของโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา 52.9% เป็นสาเหตุนำไปสู่การสูญเสียฟันเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุสูงถึง 1.6 ซี่/คน ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศปี 2562 พบว่าความผิดปกติของสุขภาพช่องปาก เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (YLDs) ในเพศชาย 10% เพศหญิง 10.4% ช่องปากเป็นประตูด่านแรกของสุขภาพ หากไม่ได้รับการดูแล ป้องกัน รักษาที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เสี่ยงป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดติดเชื้อ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคมะเร็งช่องปาก อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษา ค่าเดินทาง และอาจกระทบกับรายได้ที่สูญเสียไปจากการลาหยุดงานเพื่อไปรับการรักษาทางทันตกรรม” นพ.เฉวตสรร กล่าว


                    ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ประธานมูลนิธิทันตสาธารณสุข กล่าวว่า วัยทำงานใช้สิทธิการรักษาหลักทั้ง 3 สิทธิ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ปีพ.ศ. 2566 พบว่าวัยทำงานอายุ 35-44 ปี เข้ารับบริการทันตกรรมในปีที่ผ่านมาเพียง 33.4% เหตุผลหลักที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ไปรับบริการ คือ ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่มีเวลา กลัวการทำฟัน และรอนาน จะเห็นได้ว่าวัยทำงานประสบกับปัญหาการเข้ารับบริการรักษาช่องปาก จำเป็นต้องขับเคลื่อนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก และเพิ่มการรับบริการของประชาชน เช่น สิทธิการรักษา เพิ่มความครอบคลุมของการให้บริการทั้งหน่วยให้บริการ และชุดสิทธิประโยชน์


                    ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการพัฒนา และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตามสิทธิในกลุ่มวัยทำงาน กล่าวว่า มูลนิธิทันตสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สสส. ดำเนินงานเพื่อให้เกิดชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพช่องปากกลุ่มวัยทำงานตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน ในระยะเริ่มต้นได้ทำงานขับเคลื่อนช่องปากวัยทำงาน เพื่อเข้าสู่ผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ “ผู้ใหญ่ฟันดี ครอบครัวสุขภาพดี สังคมมีสุขภาวะ” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถดูแล เฝ้าระวังสุขภาพช่องปากของตนเองได้ เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการ ทำให้ทราบเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้ประกันตนที่เหมาะสมอยู่ที่ 1,600-2,000 บาท การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพช่องปาก และมีการวางแผนการดูแลอย่างสม่ำเสมอทุกปีจะช่วยลดภาระงบประมาณรายหัวของผู้ประกันตนลงได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแนวทางการดูแลวัยทำงานในสิทธิหลักประกันสุขภาพ ให้มีกลไกที่ง่ายต่อการเข้าถึงบริการ รวมทั้งการบูรณาการการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้ป่วย NCDs เพื่อลดภาระโรคภาพรวมของประเทศด้วย ซึ่งในระยะยาวจะลดการสูญเสียฟันได้ตามเป้าหมายในระดับประเทศ

Shares:
QR Code :
QR Code