สสส.-ภาคีหนุนจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย 60 แห่งทั่วประเทศ

สสส. ผนึก ภาคีเครือข่าย รณรงค์ “วัฒนธรรมสร้างสุข สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์” หนุนจังหวัด เทศบาล อบต. จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย 60 แห่งทั่วประเทศ เปิดมหัศจรรย์ถนนข้าว 16 แห่งชื่อดัง ปลอดเหล้า 100% หวังลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท สถิติเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลัง 5 ปี คร่าชีวิตคนไทย เกือบ 2,000 ราย เฉพาะปี 53 พบ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี


วัฒนธรรมสร้างสุข สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์


เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับ สสส.  จัดแถลง “วัฒนธรรมสร้างสุข สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์” โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า  ข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2549-2553 เทศกาลสงกรานต์ได้คร่าชีวิตคนไปถึง 1,948 คน และคาดว่าจะมีผู้พิการรายใหม่ 1,423 คน โดยข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยืนยันว่า เฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปี 2553  ผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่ง หรือ 58.6% มีการดื่มสุราร่วมด้วย ที่น่าตกใจคือ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิตนี้เป็นเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 20  ปี ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน พบสัดส่วนการดื่มสูงขึ้นถึง 67-69% เทียบเท่ากับในผู้เสียชีวิต 3 คนจะมี 2 คนที่ดื่มสุราร่วมด้วย


ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่วงสงกรานต์มากกว่าช่วงปกติถึง 2.4 เท่า และยังส่งผลกระทบต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บต่างๆ ทั้ง การจมน้ำ การพลัดตก หกล้ม รวมถึงการทะเลาะวิวาท และถูกทำร้ายร่างกายมากถึง 6.58 เท่า  ที่สำคัญเยาวชนมีพฤติกรรมการดื่มหนักในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นถึง 1.8 เท่า ซึ่งมีแนวโน้มจะติดการดื่มหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน สถานการณ์และความรุนแรงของปัญหาเช่นนี้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งร่วมกันเฝ้าระวังอุบัติเหตุ ส่งเสริมพื้นที่เล่นน้ำในช่วงสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์ และส่งเสริมพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้า  สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด เทศบาล และอบต. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ จัดโซนนิ่งสถานที่ปลอดภัยน่าเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้คำขวัญ “สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์” โดยในปี 2554 นี้ ได้ขยายแนวคิดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าเพิ่มเป็น 44 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ มหาสารคาม หาดใหญ่ จันทบุรี น่าน กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ร่วมสร้างพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย และคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์ก็สนุกได้


นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ สคอ. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดพื้นที่ปลอดอุบัติเหตุและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีมาตรการเสริมดังนี้ 1.ปรับบทบาทของหน่วยบริการที่จุดตรวจเมาไม่ขับทั่วประเทศผ่าน ศปถ. เน้นทำงานเชิงรุก เฝ้าระวังจุดเสี่ยงบนท้องถนน และเฝ้าระวังร้านค้าใกล้เคียงกับจุดตรวจเมาไม่ขับ ที่ลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะจำหน่ายให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 2.ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้จุดตรวจเมาไม่ขับทั่วประเทศ กวดขันผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ว่ามีอาการมึน เมา หรือไม่ หากพบให้ซักประวัติว่า ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านใด หรือดื่มจากร้านใด เพื่อขยายผลการจับกุม นอกจากนี้ ได้ผลิตสื่อรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่อร่วมรณรงค์ให้เกิดพื้นที่สงกรานต์ปลอดภัย


นายวิษณุ  ศรีทะวงศ์  ผู้จัดการกลุ่มงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ด้านประเพณี วัฒนธรรม  กล่าวว่า สสส. และ สคล. จับมือภาคีเครือข่าย หนุนให้หน่วยงานเจ้าภาพในพื้นที่ประกาศพื้นที่รณรงค์เล่นน้ำปลอดภัย 60 พื้นที่ทั่วประเทศ กับถนนตระกูลข้าว 16 แห่ง ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น มีนโยบาย มาตรการ และกลยุทธ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ การประกาศเป็นนโยบายพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรี สภาวัฒนธรรมในพื้นที่ เจ้าภาพจัดงาน และชุมชน การขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการไม่ขายเหล้าในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเทศบาล อำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมจัดพื้นที่เล่นสงกรานต์ปลอดภัยเป็นอย่างดี คาดว่า จะเริ่มมีจังหวัดต่างๆ ทยอยประกาศพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ช่วงเล่นน้ำสงกรานต์ ด้วยการคุมปัจจัยเสี่ยง อาทิ น้ำเมา พฤติกรรมลวนลามทางเพศ และการสาดน้ำรุนแรง การสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เป็นการควบคุมที่ต้นทางลดพฤติกรรมเล่นน้ำอันตราย ลดการดื่มแล้วขับโดยเฉพาะในรถจักรยานยนต์ที่พบว่าเป็นสาเหตุ มากถึง 2 ใน 3 ของจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั่วประเทศ


นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากการจัดโซนนิ่งแล้ว ยังมีการจัดรณรงค์ต่างๆ ภายในงาน อาทิ ถนนรอบคูเมือง จ.เชียงใหม่ รณรงค์ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าพื้นที่เล่นน้ำ โดยมีเด็กและเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี เป็นอาสาสมัครสอดส่องดูแลความเรียบร้อย เป็นนักสืบ online เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงโดยรายงานตรงผ่าน Social Media และ Facebook  ส่วนที่ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี มีโครงการฝากเหล้ากับไว้ตำรวจ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ทั้งนี้ยังมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มขึ้นอีกหลายจุด ซึ่งพบว่าในปี 2553 ปัญหาการทะเลาะวิวาทลดลงเหลือเพียง 4 ครั้งจากเดิมปี 2551 ที่มีมากถึง 50 ครั้ง และถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น มีกิจกรรมบันทึกสถิติโลกคลื่นมนุษย์ปลอดเหล้า (Human Wave without ALCOHOL) ที่ยาวที่สุดในโลก มีเวทีดนตรีที่สนุกและมันได้โดยไม่เมากว่า 10 เวทีตลอดทั้งวัน โดยมีหน่วยเฉพาะกิจปราบแอลกอฮอล์คอยดูแลสอดส่องพร้อม CCTV กว่า 20 จุด และในหลายพื้นที่มีโครงการน้ำแลกเหล้า น้ำหวานแลกเหล้า ไอติมแลกเหล้า ทั้งนี้เชื่อว่าการจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าจะนำไปสู่การลดปัญหาสงกรานต์อันตรายลงได้ในอนาคตอันใกล้นี้


 


ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code