สสส.-ภาคประชาสังคมยกเสาเอกศูนย์ฟื้นฟูคนไร้บ้านปทุมธานี
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบ จาก สสส.
คนไร้บ้านเฮ! ยกเสาเอกศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านแห่งใหม่ที่ปทุมธานี สสส. ร่วมภาคประชาสังคม วางกลไกพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน หวังเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม ผุดโมเดลการพัฒนาทุนทางจิตใจคนไร้บ้าน ป้องกันกลับมาไร้บ้านซ้ำ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จังหวัดปทุมธานี สมาคมคนไร้บ้าน เครือข่ายสลัม4 ภาค ได้มีพิธียกเสาเอกศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นประธานในพิธี พร้อมหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี (พมจ.ปทุมธานี) เทศบาลตำบลบางพูน ภายในงานยังมีนิทรรศการแสดงพื้นที่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจังหวัดปทุมธานี เพื่อบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “ที่อยู่อาศัย” ถือเป็นปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพของคนไร้บ้าน ด้วยเหตุนี้ สสส จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนนโยบายด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านจนเกิดมติคณะรัฐมนตรี “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปี (2559-2560)” เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 โดยสนับสนุนการสร้างศูนย์พักคนไร้บ้าน และพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนไร้บ้าน ใน 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น และจ.ปทุมธานี เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายกว่า 698 คน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านแล้วเสร็จ จำนวน 2 แห่ง (เชียงใหม่ และขอนแก่น) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 1 แห่ง (ปทุมธานี) โดยจะเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน ที่มาจากเขตจตุจักร เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตรังสิต เทศบาลเมืองปทุมธานี และศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย (บางส่วน) ปััจจุบันมีสมาชิก 13 คน
นางภรณี กล่าวต่อว่า การทำงานของ สสส. ในการทำให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงที่พักอาศัยทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เป็นแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานระดับสากล นั่นคือ “Housing First” เป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยให้คนไร้บ้านสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง เมื่อร่วมกับกระบวนการพัฒนาศักยภาพ และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม ป้องกันการกลับมาไร้บ้านซ้ำ ซึ่งการสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านเป็นเหมือนฮาร์ดแวร์ งานที่ สสส สนับสนุน อันได้แก่ การพัฒนาศักยภาพแกนำนและเครือข่ายคนไร้บ้าน การพัฒนาระบบบริหารจัดการศูนย์พักฯ การสนับสนุนให้เกิดการจัดระเบียบ การจัดสวัสดิการ ระบบการดูแลช่วยเหลือและพึ่งตนเอง รวมทั้งการหนุนเสริมทักษะด้านอาชีพที่ทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
นางภรณี กล่าวอีกว่า การสร้างศูนย์พักคนไร้บ้าน แม้จะเป็นการลดเงื่อนไขในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไร้บ้านแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพ และภาวะความมั่นคงภายในของคนไร้บ้านเองก็เป็นประเด็นสำคัญในการทำให้เขาสามารถลุกขึ้นมาดูแลจัดการตนเองได้ ดังนั้นแผนการในระยะต่อไปของ สสส. ซึ่งจะร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาเครื่องมือและโมเดลการพัฒนาทุนทางจิตใจ (PsyCap) ของคนไร้บ้านในพื้นที่ปทุมธานี เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพคนไร้บ้านที่ยั่งยืนและการขยายผลในเชิงพื้นที่ต่อไปในอนาคต สำหรับการแจงนับคนไร้บ้านในพื้นที่ปทุมธานีครั้งล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า คนไร้บ้านพบว่ามีคนไร้บ้านที่พบเห็นในพื้นที่สาธารณะ จำนวน 46 คน เป็นเพศชายร้อยละ 87 และเพศหญิงร้อยละ 9 ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงแรงงาน (อายุ 40-59 ปี)
สำหรับศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน ดังกล่าวได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนแล้ว จำนวน 30,108,420 บาท เพื่อดำเนินการซื้อที่ดินขนาด 2 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา และดำเนินการก่อสร้างศูนย์จากการออกแบบปรับปรุงตัวอาคารที่อยู่อาศัยเดิม คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ