สสส. ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายประชุมใหญ่ 10 ปี
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายประชุมใหญ่ 10 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเทศไทยได้อะไร?
วันที่ 21 พ.ย. 61 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 10 โดยมีหัวข้อหลักในการประชุม คือ "สิบปี พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551: ประเทศไทยได้อะไร” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การดื่มสุราไม่เพียงก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพมากมาย แต่ยังทำร้ายผู้บริสุทธิ์และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาประชาชนคือผู้สูญเสีย แต่ไร้ความรับผิดชอบจากบริษัทสุรา อีกทั้งบริษัทสุรายังพยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และพยายามที่จะแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"จากการสำรวจการรับรู้ ความคิดเห็น และทัศนคติของประชาชนไทยต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 เห็นว่าสุราเป็นสิ่งให้โทษต่อสังคมไทย และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทุกประเด็นเกี่ยวกับกฎระเบียบ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์"
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี ยังระบุอีกว่า ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดและป้องกันปัญหาสังคมที่เกิดจากการดื่มเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 80) รองลงมาคือการรักษาและการให้การช่วยเหลือโดยเร็วแก่ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม (ร้อยละ 79.5) และการบูรณาการกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 76.8) ซึ่งสิบปีหลังจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่าจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การพบเห็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง พื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนเพิ่มขึ้น วันและระยะเวลาที่จำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ประชาชนกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าไม่ควรปรับแก้กฎหมาย ไม่ควรยกเลิกการควบคุมการนำภาพการดื่มสุราและภาพผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อและเครื่องหมายการค้าสุรา และประชาชนร้อยละ 83 เห็นว่าบริษัทน้ำเมา กำลังใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า อีกทั้งยังได้เสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ให้เข้มงวดกวดขัน ควบคุมการโฆษณาการทำการตลาด การขายสุราให้เป็นของขวัญปีใหม่ แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป
ด้าน ศ.นพ. อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สสส. กล่าวเปิดประชุมว่า งานวิจัยจากทั่วโลกที่ผ่านมายืนยันและเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สุรา คือสารเสพติดถูกกฎหมายที่เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด และเป็นด่านแรกในการเข้าสู่การใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ และอบายมุขอื่นๆ ที่บ่อนทำลายสุขภาพ สังคม และประเทศชาติ กรมควบคุมโรค และ สสส. จึงได้เริ่มการประชุมจัดทำร่างกฏหมายเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และต่อมาจึงมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ทำให้สามารถผลักดันให้เกิดมาตรการและการดำเนินการต่างๆ เพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การห้ามบริโภคบนทาง การห้ามขายหรือห้ามบริโภคในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน การห้ามขายหรือบริโภคในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ การห้ามขายหรือบริโภคในสวนสาธารณะของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ การแสดงรูปแบบของข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้ต้องอาศัยความรู้ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย ซึ่งได้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งร่วมกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย
สำหรับการ การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 10 มีการบรรยายพิเศษ 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) ข้อแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข สำหรับบุคคลที่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) มาตรการป้องกันอุตสาหกรรมสุราในการแทรกแซงการออกนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐ (Countermeasures for alcohol industry influence on alcohol control policy) 3) การขับเคลื่อนสังคมไทยเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบสิบปี นอกจากนี้ ยังมีการประชุมนานาทรรศน์ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพ, มาตรการควบคุมการเข้าถึงสุราของเยาวชน, มาตรการคัดกรองและบำบัดรักษา , ภาษีสุรา เครื่องมือของรัฐในการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชน , มาตรการระดับชุมชนและบทบาทของภาคประชาชน , มาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการควบคุมการตลาดและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการอภิปรายถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 : ประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร