สสส.ปั้น “นักวิจัยคอกระเช้า” สำรวจปัญหาครัวเรือน
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้โครงสร้างของครอบครัวไทยในอดีตที่เป็นครอบครัวเชิงขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงาม เมื่อรวมกับขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและชุมชน จึงทำให้ขาดโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่จะช่วยชี้นำวิถีทางในการแก้ปัญหาชีวิต
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ที่ประกอบรวมขึ้นเป็นชุมชน หากครอบครัวขาดความเข้มแข็ง ชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ก็ไม่อาจจะแข็งแกร่งยืนหยัดบนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้
จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์เรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปาง โดย สถาบันรักลูก ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง จึงได้จัดทำ “กระบวนการทำงานสร้างการเรียนรู้ผ่านงานวิจัย” ขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลค้นหาเรื่องราวและปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัว แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ต่อให้แก่ครอบครัวอื่นๆ ในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายพันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ประธานคณะทำงานศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งเปิดเผยว่า คณะทำงานได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2547 ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดลำปาง พบว่าสถาบันครอบครัวของชาวลำปางกำลังอ่อนแอ เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง ในชุมชนเมืองมักพบปัญหาเด็กถูกทิ้งไว้กับผู้สูงอายุ เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานรับจ้าง หากเป็นสังคมชนบทที่พ่อแม่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เด็กจะถูกส่งไปเรียนในอำเภอเมือง คนในครอบครัวจึงต่างห่างเหิน นำไปสู่การเป็นครอบครัวที่แตกแยก
“ครอบครัวที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินชีวิตโดยขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้ขาดทักษะในด้านการแก้ไขปัญหาในครอบครัว เมื่อปัญหาสะสมจึงทำให้คุณภาพชีวิตลดต่ำลง ดังนั้นการสร้างการเรียนรู้วิธีรักษาสายสัมพันธ์ในครอบครัวจึงเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้สถาบันครอบครัวกลับมาแข็งแรง สามารถต้านทานสภาพปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า และสามารถคิดวิเคราะห์หาแนวทางแก้ปัญหาได้ โดยทางศูนย์ฯ จะจัดกระบวนการเพื่อสร้างการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การจัดเวทีเรียนรู้ การเรียนรู้ผ่านงานสื่อ และการเรียนรู้ผ่านงานวิจัย โดยวิธีการทั้ง 3 แบบนี้ จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของชุมชน โดยแกนนำของแต่ละชุมชนจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น ก่อนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ว่าจะให้แต่ละครอบครัวได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วยวิธีใด” นายพันธ์ศักดิ์ระบุ
ศูนย์เรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็งบ้านม่วง ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม เป็นเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปาง ที่ได้นำกระบวนสร้างการเรียนรู้ผ่านงานวิจัย มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อค้นหาประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัว โดยแกนนำที่เป็นสมาชิกในชุมชนจะร่วมทำหน้าที่ “นักวิจัยชุมชน” ออกเดินเท้าพูดคุย สืบเสาะ เก็บข้อมูลจากแต่ละครัวเรือนอย่างละเอียด แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาสังเคราะห์ ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้กลับไปจัดเวทีสร้างการเรียนรู้ต่อให้แก่ทุกครอบครัวในชุมชน
นางบุญปั๋น ชุ่มเย็น วัย 57 ปี หัวหน้านักวิจัยชุมชน ศูนย์เรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็งบ้านม่วง เปิดเผยว่า ทางชุมชนได้การสร้างเรียนรู้ผ่านงานวิจัยชุด “ทุกข์ของครอบครัวในชุมชน” ด้วยการส่งทีมนักวิจัยซึ่งมีทั้งผู้อาวุโสและเยาวชนออกพูดคุยสอบถามข้อมูลของสมาชิกในชุมชนจำนวน 203 ครอบครัว แล้วจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ครอบครัวที่ทุกข์น้อยที่สุด ครอบครัวที่ทุกข์ปานกลาง และครอบครัวที่ทุกข์มากที่สุด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นจริงชัดเจนไม่บิดเบือน
“การออกเดินเยี่ยมบ้านเก็บข้อมูล เราจะไปในฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน สวมเสื้อคอกระเช้า แต่งกายอย่างง่ายๆ เพื่อให้สมาชิกไม่เขินอายที่จะบอกเล่าปัญหาชีวิตที่แท้จริงให้เราฟัง ปัจจุบันชุมชนบ้านม่วงมีครอบครัวที่ทุกข์มากที่สุดหลายครัวเรือน ทั้งเรื่องปัญหาความยากจน หรือเจ็บป่วยพิการถึงขั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อทีมนักวิจัยชุมชนลงความเห็นว่าครอบครัวใดควรได้รับการขจัดทุกข์ ก็จะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา แล้วเตรียมจัดเวทีเรียนรู้เพื่อให้คืนข้อมูลให้ครอบครัวอื่นๆ ได้รับรู้ถึงปัญหาของคนในชุมชนเดียวกัน ที่ผ่านมาเรารับรู้ปัญหาของผู้ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงจนเคยชินและมองเป็นเรื่องธรรมดา การคืนข้อมูลให้ชุมชนจะทำให้ทุกคนได้ร่วมคิดหาวิธีบรรเทาทุกข์ เพราะตระหนักว่าตนเองต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาฟังปัญหาเพื่อร่วมแก้ไขด้วย” นางบุญปั๋นระบุ
ด.ต.หญิงจันทนา สุมา ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.แจ้ห่ม รองประธานศูนย์เรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็งบ้านม่วงและนักวิจัยชุมชนเล่าว่า การทำวิจัยทำให้ผู้ด้อยโอกาสหลายครัวเรือนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากชุมชนอย่างได้ผล ยกตัวอย่างกรณีครอบครัวของ นางแก้ว สุภมิตร วัย 48 ปี ที่พิการเดินไม่ได้และไม่เคยเดินทางไปพบแพทย์ ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว
“ปัญหาสำคัญที่แท้จริงของนางแก้วคือการไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่สามารถขอใช้สิทธิรักษาพยาบาล และสิทธิอื่นๆ ที่เป็นสวัสดิการของภาครัฐได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นักวิจัยชุมชนได้จัดเวทีเรียนรู้ และบอกเล่าข้อมูลให้คนในชุมชนได้ทราบ ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติร่วมกันจากสมาชิกทุกคน ในการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือด้านต่างๆ พร้อมช่วยกันดำเนินเรื่องขอบัตรประชาชนให้นางแก้วด้วย” ด.ต.หญิงจันทนากล่าว
ผลจากการทำวิจัยควบคู่ไปกับการจัดเวทีเรียนรู้ ในที่สุด นางแก้ว สุภมิตร ก็ได้มีบัตรประชาชน และสามารถขอรับสิทธิช่วยเหลือต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันการจัดเวทีเรียนรู้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สะท้อนประสบการณ์ปัญหาในครอบครัวของตนเองออกมา พ่อแม่ลูกได้มีโอกาสระบายความคับข้องใจระหว่างกัน นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน เมื่อทุกครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย
“กระบวนการที่ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมพัฒนาครอบครัว ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและปกป้องดูแลครอบครัวให้เข้มแข็ง โดยการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่เดือดร้อนไม่สามารถช่วยตนเองได้ ผ่านการทำงานวิจัยจะกระตุ้นให้ชาวลำปางเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว เพราะผลวิจัยเกิดจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ปรากฏขึ้น จะกระตุ้นให้สังคมเกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา เมื่อครอบครัวได้รับการคลายทุกข์ ทุกคนในชุมชนย่อมเป็นสุขและเข้มแข็ง” นายพันธ์ศักดิ์กล่าวสรุป
ที่มา: เว็บไซต์ไทยพีอาร์ดอทเน็ต