สสส.ปลื้มชุมชนต้นแบบแก้ปัญหาเยาวชน
สสส.ปลื้มชุมชนต้นแบบแก้ปัญหาเยาวชนติดเกม-โดดเรียน เอาแนวคิดขยายใช้ทั่วประเทศ
สสส.ปลื้มผลสัมฤทธิ์ชุมชนต้นแบบ ดึงเยาวชนร่วมคนในชุมชนใช้งานบุญประเพณี 12 เดือนของคนอีสาน แก้ปัญหาติดเกม ยาเสพติด หนีเรียนได้สำเร็จ ทำให้ร้านเกมของหมู่บ้านต้องปิดตัว คนในชุมชนมีความรักร่วมฟื้นกิจกรรมในอดีตสู่คนรุ่นใหม่ที่วัดบ้านโพธิ์ศรีใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูการดำเนินโครงการร่วมสร้างชุมชน ซึ่งอดีตเป็นชุมชนประสบปัญหาเยาวชนในหมู่บ้านไม่สนใจเรียนหนังสือ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน และกำลังจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดต่อมา สสส.เข้ามาให้การสนับสนุนและตั้งให้มีสภาผู้นำชุมชน ดึงเยาวชนและผู้ใหญ่เข้ามาร่วมพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดในหมู่บ้าน และกำหนดกรอบแนวทางแก้ปัญหา โดยใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นในรอบ 12 เดือน เพื่อให้ทุกคนมีกิจกรรมทำร่วมกัน พร้อมประยุกต์สิ่งที่เยาวชนในท้องถิ่นชอบให้เป็นกิจกรรมที่แต่ละกลุ่มต้องทำการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชน
ในรอบปีที่ผ่านมาปรากฏผลสำเร็จ คือ เยาวชนที่เคยหนีเรียนไปเล่นเกมตามร้านหันมาร่วมทำกิจกรรมไม่สนใจเล่นเกมอีก ทำให้ร้านเกมที่มีอยู่ในหมู่บ้าน 3 ร้านต้องปิดกิจการลงเอง เพราะทนขาดทุนไม่ไหวเนื่องจากไม่มีเยาวชนเข้าไปใช้บริการขณะเดียวกัน ในหมู่บ้านกลับมีกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเพิ่มขึ้น คือ มีกลุ่มจัดทำพานบายศรี ซึ่งเป็นศิลปะอีสานและกำลังจะสูญหายไปจากท้องถิ่น การทำน้ำดื่มและอาหารจากพืชสมุนไพร งานจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนเหมือนในอดีต และกลุ่มเรียนรู้ด้านศิลปะป้องกันตัวด้านมวยไทย รวมทั้งการประกอบอาชีพอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่เยาวชนร่วมกันทำเป็นกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเองขึ้นมานาย
สัมฤทธิ์ ไชยโกฏิ ผู้ใหญ่บ้านโพธิ์ศรีใต้ กล่าวว่า อดีตบ้านโพธิ์ศรีใต้เป็นชุมชนที่มีปัญหาเยาวชนและผู้ใหญ่ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ขาดการเชื่อมต่อและเริ่มมีปัญหาอาชญากรรมจากยาเสพติด จึงเข้าหารือหาแนวทางการแก้ปัญหาและขอรับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ปีแรกมีการตั้งคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนเข้ามาปรับแนวคิดของคนในชุมชน ทำให้เกิดความร่วมมือกันทั้ง วัด บ้าน และโรงเรียน มีการประชุมกำหนดกติกาชุมชนเพื่อถือปฏิบัติร่วมกัน 4 ข้อ คือ การบริจาคทรัพย์ สละแรงกาย ร่วมออกไอเดีย และให้กำลังใจ กระทั่งมีการตั้งกลุ่มเยาวชนจิตอาสากว่า 60 คน นำงานบุญประเพณีทั้ง 12 เดือนมาเป็นเครื่องมือเชื่อมความเข้าใจระหว่างเยาวชน กับผู้ใหญ่ได้ทำงานร่วมกันตลอดทั้งปี จนประสบความสำเร็จเกิดเป็นกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาในวันนี้
ขณะที่ นายทนงศักดิ์ กรวบสันเทียะ เยาวชนจิตอาสาของหมู่บ้าน กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมเป็นเยาวชนจิตอาสาให้เวลากับการเล่นเกมวันละกว่า 8 ชั่วโมง แต่เมื่อเข้าร่วมกลุ่มจิตอาสา ทำให้มีกิจกรรมอื่นที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชนให้ทำ จึงไม่สนใจการเล่นเกมอีก เพราะต้องช่วยกันคิดออกแบบการจัดกิจกรรมในแต่ละเดือนหลังเข้าร่วมเป็นเยาวชนจิตอาสาแล้ว ได้รับความรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มีเรื่องน่าสนใจจำนวนมาก พร้อมทั้งสามารถนำความรู้ไปใช้เรียนและสร้างอาชีพได้ด้วยด้าน
ดร.สุปรียา กล่าวว่า ชุมชนบ้านโพธิ์ศรีใต้นับเป็นชุมชนต้นแบบที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ปรับแก้ไขปัญหาให้เยาวชน โดยดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงาน ตั้งแต่การคิดกิจกรรม การออกแบบการทำงาน โดยมีการทำงานร่วมกันตลอดทั้งปี นับเป็นผลสำเร็จ ซึ่ง สสส.จะได้นำแนวคิดนี้ไปให้ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศเรียนรู้และนำไปใช้แก้ปัญหาให้ชุมชนของตนเองต่อไปด้วย
ที่มา: MGR Online