สสส. นำร่องรพ. ทั่วประเทศปลอดบุหรี่ 100%
หลังพบเยาวชนกว่า 5 แสนรายติดบุหรี่งอมแงม
ณ ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่ง
มีหญิงชายนั่งรอรถเมล์อยู่ ซึ่งเค้าทั้งสองคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ผู้หญิง : เรารู้จักกันด้วยหรอคะ
ผู้ชาย : ….?..!..
ผู้หญิง : แล้วคุณ….มาทำร้ายฉันทำไม!
(การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเหมือนกับเป็นการทำร้ายคนที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเราด้วย)
จากข้อมูลสำรวจทั่วโลกพบว่า เยาวชนที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่จะเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปี สูงถึง 1 ใน 4 ของเด็กเหล่านี้ หากเริ่มลองสูบบุหรี่ก่อนอายุ 10 ปี ยิ่งอายุที่ลองสูบยิ่งน้อย โอกาสที่จะติดบุหรี่จะยิ่งมากและยิ่งเลิกสูบยาก ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ ติดบุหรี่มักเกิดจาก 1.การสูบบุหรี่ของพ่อแม่และเพื่อน 2.การยอมรับการสูบบุหรี่ของสังคม และ 3.การตลาดของบริษัทบุหรี่
สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2547 พบว่า มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี ที่สูบบุหรี่ที่ทั้งแบบสูบประจำและแบบครั้งคราวรวม 1,705,526 คน
โดย….เยาวชนที่มีอายุ 11 – 14 ปี สูบบุหรี่ 7,176 คน
เยาวชนที่มีอายุ 15 – 19 ปี สูบบุหรี่ 451,526 คน
เยาวชนที่มีอายุ 20 – 24 ปี สูบบุหรี่เป็นประจำ 1,246,785 คน
เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 19 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 458,740 คน
ตามสถิติประมาณหนึ่งในสามของเยาวชนหากจะยังคงสูบบุหรี่ต่อไป โดยไม่เลิก ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จึงได้จัดโครงการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% สานต่อจากปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างผู้ดำเนินโครงการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% ที่ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในโครงการให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 104 แห่ง และให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทั้งหมดได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความคิดเพื่อขยายผลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ
ด้าน ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ผู้รับผิดชอบโครงการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ เล่าว่า ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างผู้ดำเนินโครงการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% กับ ตัวแทนโรงพยาบาลกว่า 104 แห่งที่เข้าร่วม โดยมีโรงพยาบาลแกนนำดีเด่นจาก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย โรงพยาบาลรามัน จังหวัดยะลา ,โรงพยาบาลเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ,โรงพยาบาลมะขาม จังหวัดจันทบุรี และโรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาเป็นวิทยากรเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งร่วมกันระดมความคิดเพื่อพัฒนาการดำเนินโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการดำเนินงานรวมกว่า 100 แห่ง ด้วยกัน
“จากผลการวิจัยของ ร.ศ.บุปผา ศิริรัศมี แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล สัมภาษณ์ผู้สูบบุหรี่ 1,551 คน จากทั่วประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 85.2 ต้องการให้โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ ร้อยละ 14.5 ต้องการให้จัดสรรพื้นที่ในการสูบบุหรี่ให้เป็นสัดส่วน ส่วนร้อยละ 0.4 เท่านั้นที่ต้องการให้สูบบุหรี่ได้ทุกพื้นที่ในโรงพยาบาล และยังพบอีกว่า ร้อยละ 76 ของผู้สูบบุหรี่เคยพยายามที่จะเลิกสูบแต่ไม่สามรถเลิกได้” ผศ.กรองจิตเล่า
ฝ่าย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เล่าว่า หากโรงพยาบาลทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง โรงพยาบาลจะเปรียบเสมือนเป็นแกนนำการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากโรงพยาบาลมีกระจายอยู่ทั่วประเทศทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและจะทำให้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 104 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งได้มีการจัดทำคลินิกเลิกบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและถูกกฎเกณฑ์ขึ้นภายในโรงพยาบาล เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนที่เข้ามารับบริการและญาติของผู้รับบริการ พร้อมกับเชิญชวนให้มาร่วมกันเลิกบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เกิดโรคร้ายที่ตามมาอย่างมากมายและส่งผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย
ด้าน นางพวงประภา เพ็ชรมี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา เล่าว่า ทางคลินิกเลิกบุหรี่มีหลักการดำเนินงานการส่งเสริมการเลิกบุหรี่ โดยใช้หลักการทำงาน a1 – a5 ประกอบด้วย การสอบถาม แนะนำให้เลิกบุหรี่ ประเมินสารนิโคตินในร่างกายผู้ป่วย ช่วยให้เลิกบุหรี่โดยใช้ยาช่วย และติดตามประเมินผล ทาง รพ.ใช้หลักการนี้กับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการการเลิกบุหรี่ไปตามลำดับขั้นตอนด้วย
นายแพทย์ประสิทธิ วิริยะกิจไพบูลย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า
ทาง รพ. มีการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ว่าทาง รพ.เข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% และประชาสัมพันธ์นโยบายห้ามผู้ที่เข้ามารับบริการภายในโรงพยาบาลสูบบุหรี่และดื่มเหล้าไปตามเสียงตามสายของโรงพยาบาลทุกวัน และผ่านทางวิทยุชุมชนใกล้เคียงด้วย พร้อมทั้งประชุมหัวหน้าในส่วนราชการในอำเภอเกษตรวิสัยทุกเดือนด้วย
ส่วนแพทย์หญิงสุจินตนา นวพันธ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลมะขาม จ.จันทบุรี เล่าว่า มีการจัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลให้โรงพยาบาลเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมดตามกฎหมาย และบุคลากรภายใน รพ.ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี โดยไม่สูบบุหรี่และร่วมสร้างค่านิยมใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่ด้วย
นายฤทธิเดช ดำรงค์ชีพ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปาย จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า มีการติดป้ายไฟว่ารพ.นี้เป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% บริเวณทางเข้าหน้า รพ.และภายในบริเวณของ รพ. ทั้งยังติดป้ายรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร พร้อมทั้งทำแบบสอบถามและประเมินความสนใจของบุคลากรที่สูบบุหรี่และต้องการที่จะเลิกบุหรี่ด้วย
“โรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100%” ถือเป็นจุดประกายการเริ่มต้นของการเลิกบุหรี่ และต้องการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ให้เลิกได้อย่างเด็ดขาดด้วย อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นเครื่องหมายแสดงไม่ให้นักสูบหน้าใหม่คิดที่จะลองสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ไม่ได้สร้างผลดีให้กับร่างกาย มีแต่จ้องที่จะทำร้ายให้ร่างกายแย่ลงทุกวัน…
เราทุกคนต่างไม่เคยเห็น
โลกที่ไม่มี… “ควันบุหรี่”
ว่า…หน้าตาเป็นอย่างไร
แต่เราจินตนาการได้ว่า…
โลกจะน่าอยู่เพียงไร..!!!
เรื่องโดย : รัศมี ศรคำ team content www.thaihealth.or.th
update 21-01-52