สสส. ตั้งศูนย์ดูแลสาธารณสุขลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
ที่มา : MGR Online
รูปภาพจากแฟ้มภาพ
สสส. หนุนตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า ดูแลสุขภาพ-การศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติ พร้อมสร้างแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวทำงานร่วม อสม. ให้ความรู้ ป้องกันโรค เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น
ในวันนี้ (15 พ.ค.) ที่จังหวัดระนอง นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติและการสร้างเสริมสุขภาพ
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพ และการป้องกันโรค ไม่เฉพาะเพียงในคนไทยเท่านั้น แต่สนับสนุนให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ และอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะและปัญหาสุขภาพ โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในสังคมอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวม การดูแลเรื่องของสุขภาพในแรงงานข้ามชาติจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยเข้ามาหนุนเสริมภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในจุดเน้นปัจจุบันคือการสนับสนุนให้เกิดการจัดการความรู้ หรือการถอดบทเรียนจากรูปแบบการดำเนินงานที่มีอยู่เพื่อนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป
นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ ทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองและประชากรข้ามชาติ พ.ศ.2560-2563 ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) โดยมีเป้าหมายในการผลักดันนโยบาย/กลไก/แนวปฏิบัติ ที่เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา และการสร้างเสริมสุขภาพ โดยการเชื่อมประสานการดำเนินงานระดับนโยบายเพื่อให้ประชากรเป้าหมายมีสุขภาวะที่ดีผ่านการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอันเป็นปัจจัยทางสังคมที่สำคัญอันส่งผลต่อสุขภาพ โดย สสส. และภาคีทำงานร่วมกันตั้งแต่การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพ วางแผน จัดรูปแบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม กำหนดการวัดติดตามประเมินผล ไปจนถึงการจัดบริการการศึกษาและบริการสุขภาพ อาทิ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การสร้างเสริมภาวะโภชนาการ อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาบุตรหลานแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนหนังสือและเด็กที่จบการศึกษาจากศูนย์การเรียนแต่ไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศต้นทางได้ สำหรับข้อมูลสถิติการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ วันที่ 21 กรกฏาคม 2559 ของสำนักงานแรงงานจังหวัดระนอง มีจำนวน 63,784 คน ส่วนจำนวนบุตรหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่คาดว่าจะมีจำนวน 7,670 คน
นางภรณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันลูกหลานแรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนองได้รับการศึกษาใน 3 รูปแบบหลัก คือ 1) การศึกษาในระบบโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนรวม 2,238 คน 2) การศึกษานอกระบบ (กศน.) ในระดับประถมศึกษาจำนวน 197 คน ซึ่งจัดการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายศูนย์การเรียนจำนวน 5 แห่ง และ 3) การศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน จำนวนทั้งหมด 13 ศูนย์การเรียน จำนวน 2,462 คน รวมทั้งหมดจึงมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการศึกษาเพียง 4,897 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่ายังมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติอีกที่กว่า 2,000 คนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีความพยายามหารือเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาของประเทศไทยและประเทศเมียนมาเพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างกัน
นายชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง กล่าวว่า ในจังหวัดระนอง จำนวนแรงงานข้ามชาติชาวพม่าโดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บางริ้น ถือว่าเป็นชุมชนหนาแน่นแออัด ส่งผลให้คนในชุมชนมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ จากการที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) รวมถึงจัดตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้ามาทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านของไทย โดยในพื้นที่ อสต. ทุกคนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ การอบรมให้ความรู้ทุกปีจากนั้นจะได้รับมอบหมายให้ดูแลชาวพม่าในชุมชนของตนเอง เช่น เมื่อมีโรคระบาดให้ไปแจ้งข่าวที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อวางแผนป้องกันโรค และเมื่อลงเยี่ยมติดตามผู้ป่วย อสต. จะติดตามไปด้วย เพื่อเป็นล่ามและให้คำแนะนำ ส่งผลให้แรงงานชาวพม่ามีความเชื่อมั่น และยินดีใช้บริการสาธารณสุขในท้องถิ่นมากขึ้น ปัจุบันเกิด ศสมช. ต้นแบบในพื้นที่ที่สามารถให้บริการด้านข้อมูลและดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติและประชาชนทั่วไปในพื้นที่และ อสต. ต้นแบบ โดยการเชื่อมโยงการทำงานของภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัดและแกนนำอาสาสมัครในระดับพื้นที่เพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน ในการเพิ่มอัตราส่วนของการมีประกันสุขภาพ การเข้าถึงบริการ และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชากรข้ามชาติตามแนวทางสาธารณสุขมูลฐาน