สสส.ดึงชาวบ้านเฝ้าระวัง“ไฟป่า”
ชุมชน-รัฐร่วมจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง และมีแนวโน้มของความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2550 พบว่ามีปริมาณฝุ่นและหมอกควันสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
ในขณะที่สาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้าง ควันและเขม่าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะประเภทต่างๆ รวมไปถึงสภาพของความกดอากาศในขณะนั้น ประกอบกับสภาพภูมิประเทศซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มลพิษต่างๆ ถูกกักไว้และแผ่ปกคลุมทั่วเมือง
แต่แทบทุกครั้งที่เกิดวิกฤติหมอกควันขึ้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมักจะพุ่งเป้าที่ไป “เกษตรกรบนพื้นที่สูง” ว่าเป็นต้นตอของปัญหา โดยมีที่มาจากการเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ทำให้มีมาตรการการแก้ปัญหาด้วยการ “ห้ามเผา” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมิได้คำนึงถึง “ระบบการผลิต” ของชาวบ้านบนพื้นที่สูง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านในการ “ชิงเผา” เพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่าของชุมชน
สิ่งเหล่านี้นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “คนเมือง” กับ “คนชนบท” ระหว่าง “เกษตรกร” กับ “ภาครัฐ” ที่ส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปสู่การดำเนินงานด้านอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบการจัดการทรัพยากรเพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุก” เพื่อสลายความขัดแย้งสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดเป็นนโยบายและแผนงานการจัดการปัญหาไฟป่าและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวบุญตา สืบประดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการความร่วมมือเพื่อจัดการไฟป่าแบบผสมผสานลดปัญหาหมอกควัน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า แนวทางหรือมาตรการการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ถูกต้องนั้นจะต้องเกิดขึ้นมาจากการมีข้อมูลที่รอบด้าน ทางมูลนิธิฯ จึงร่วมกับแต่ละชุมชนรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้วนำไปเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชาวบ้านมีทางเลือกในการจัดการกับปัญหาที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน เช่นการ “ชิงเผา” เพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิงในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ
“งานที่ทำร่วมกับชุมชนก็คือพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เพราะว่าไฟป่ามีความสัมพันธ์กับทรัพยากรและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำอย่างไรให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่ามีความเข้มแข็ง ให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าภาพที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา ไม่เหมือนในอดีตที่ชาวบ้านจะโยนความรับผิดชอบให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่นหากเกิดไฟป่าก็จะให้ศูนย์ไฟป่ามาดูแล ซึ่งโครงการนี้ได้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในป่า เป็นเครือข่ายระบบนิเวศน์ผืนใหญ่ที่มีพลังในการจัดการกับปัญหาทรัพยากรชุมชนและไฟป่าได้มากขึ้น โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐบนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน” นาวสาวบุญตา ระบุ
นายสมพล อนุรักษ์วนภูมิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในอดีตชาวบ้านจะทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าว มีการปล่อยที่ดินที่ใช้เพาะปลูกในปีที่ผ่านมาให้ฟืนตัวคืนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ กว่าจะกลับมาใช้อีกครั้งก็ราวๆ 1-3 ปี แต่นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาเมื่อชาวบ้านทั้งบนดอยและพื้นที่เชิงดอยหันมาปลูกข้าวโพด และต้องใช้พื้นที่จำนวนมากทำให้มีการเผาไร่กันตลอดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายนเพื่อกำจัดวัชพืชและเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก จึงทำให้มีปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงดังกล่าว
“ชุมชนของเราแต่เดิมก็มีภูมิปัญญาในเรื่องของการทำแนวกันไฟในเขตป่าของชุมชน และมีความเชื่อว่าไฟเป็นโทษมหาศาล ถ้าไฟไหม้ป่าก็ทำให้ให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ตายหมด อาหารก็จะไม่มี น้ำก็จะแห้ง แต่เรื่องของการเผาไร่นั้นก็เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านที่อยู่บนพื้นที่ภูเขาจะต้องทำ แต่ชาวบ้านบนดอยส่วนใหญ่จะเริ่มเผากันในราวต้นเดือนเมษายน เพราะหลังจากนั้นไม่นานฝนบนดอยก็จะตก” นายสมพล ระบุ
พ่อหลวงปราโมทย์ กองจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า ในชุมชนได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ป่า เพื่อเฝ้าระวังและดูแลป่าของชุมชน ในกรณีที่มีไฟป่าเข้ามาในพื้นที่ๆ ชุมชนดูแลก็จะมีการระดมชาวบ้านออกมาช่วยกันดับไฟ นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบของหมู่บ้านในการควบคุมป้องกันไฟป่าเช่น ถ้าจะเผาไร่ต้องทำแนวกันไฟหรือแจ้งกรรมการให้รู้ล่วงหน้า
“เรื่องของไฟป่าชาวบ้านทุกคนก็มีความตระหนักมากขึ้น เมื่อก่อนนี้สัก 5-10 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงหน้าร้อนไฟก็จะไหม้ไปหมดทั้งดอย แต่ปัจจุบันนี้ป่าก็แน่นขึ้น พื้นที่ป่าก็เพิ่มขึ้น และทางคณะกรรมการฯ ได้มีการคุยกับชาวบ้านให้มีการจัดแบ่งเวลาการเผาไร่ เพราะถ้าหากไม่เผาก็จะเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการใช้ยาและสารเคมีเพื่อฆ่าหญ้า ซึ่งชาวบ้านบนดอยจะเริ่มเผาไร่ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมหรือช่วงที่ก่อนฝนจะตก ดังนั้นปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมจึงน่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ” พ่อหลวงปราโมทย์ ระบุ
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. เปิดเผยว่า เรื่องของมลภาวะเป็นพิษที่เกิดจากหมอกควันซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือในขณะนี้ มีสาเหตุมาหลักๆ มากจากการเกิดไฟป่าและบางส่วนก็เกิดขึ้นจากการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ดังนั้นการที่ สสส.เข้าไปสนับสนุนการทำงานเพื่อป้องกันไฟป่าโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมก็เพื่อที่จะทำให้ปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนลดน้อยลงไป
“โดยหลักการแล้วแนวทางการแก้ปัญหาจะต้องเกิดขึ้นมาจากชุมชน เพราะชุมชนมีกำลังคนมากกว่าภาครัฐและกระจายอยู่รอบๆ พื้นที่ป่า ซึ่งเชื่อว่าด้วยกำลังคนที่มากกว่าและเป็นคนในพื้นที่ เขาน่าจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาได้ดีกว่า ถ้าเราช่วยเพิ่มความรู้ และเพิ่มศักยภาพของชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถประสานความร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นการช่วยเสริมพลังในการจัดการกับปัญหาไฟป่าได้ดีขึ้น” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวสรุป
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 25-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์